แนวโน้มเงินเฟ้อทะยาน ซ้ำเติมคนรายได้น้อย-เอสเอ็มอี

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการและภาคธุรกิจ ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์เผยแพร่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงระดับ 5.81% และมีแนวโน้มแต่ละเดือนจะอยู่ระดับ 4-5% ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส
จากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เร็ว เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็ว และการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือในประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ทำให้คนมีเงิน แต่การผลิตสินค้ากลับมาตอบสนองความต้องการไม่ทัน ผลจากซัพพลายเชนถูกชะลอในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อของโลกสูง ซึ่งส่งผลต่อไทยเช่นกัน เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับการค้าโลกสูง ราคาสินค้าก็อ้างอิงจากตลาดโลก ดังนั้น ราคาสินค้าต่างๆ ก็ขึ้นตาม

ปัจจัยที่สอง คือปัญหาสงคราม ที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้ราคาพลังงานพุ่งทะยานขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีเพียงปัจจัยเงินเฟ้อก็มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันโลกจะขึ้นสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในปัจจุบันหลังเกิดความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันโลกกระโดดขึ้นไป 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอีก

Advertisement

สองปัจจัยนี้จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยยาวนานมากกว่าที่คาดว่าจะจบภายในครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากนี้ก็ต้องติดตามและพิจารณาว่า สงครามรัสเซียกับยูเครนจะจบลงอย่างไร

ส่วนเงินเฟ้อของต่างประเทศ เกิดจากคนมีเงินจำนวนมากขึ้น แต่เงินเฟ้อของไทยมีความแตกต่างออกไป เนื่องจากไทยฉีดวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบมาก็จริง แต่ลักษณะเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง แต่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เปรียบได้ชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด มีจำนวน 40 ล้านคน ขณะที่ในปี 2564 มีจำนวนเพียง 4 แสนคน คิดเป็นเพียง 1% ของปี 2562 ดังนั้น เป็นที่แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เพราะฉะนั้น สภาวะเงินเฟ้อของไทย จึงเป็นสภาวะที่น่ากลัวกว่า เพราะได้รับทั้งผลกระทบเงินเฟ้อจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูง (cost-push inflation) ขณะที่ประชาชนยังไม่มีรายได้กลับมา

ก่อนที่จะมีสงครามรัสเซียกับยูเครน คาดว่าสภาวะเงินเฟ้อไทยจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังปี 2565 จากที่มองว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะจบลงในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมา รวมทั้งรัฐบาลอาจจะออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างน้อยในครึ่งปีแรกนี้ หนักแน่นอน ต้องดูที่สงครามจะจบลงเมื่อไร และส่งผลกระทบอย่างไร

Advertisement

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลควรจะดำเนินการในสภาวะเช่นนี้ โดยทั่วไป นักเศรษฐศาสตร์ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลทำการแทรกแซง และการแทรกแซงก็ทำได้ยาก รวมทั้งมีต้นทุน คืองบประมาณที่จะต้องเสียไป ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า สิ่งที่ทำได้คือการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ไม่ใช่การที่รัฐบาลอุดหนุนแบบให้เปล่า แต่จะต้องรักษาหน้าที่ของกองทุนน้ำมันฯ คือการรักษาสมดุลราคาน้ำมันขายปลีกในไทย เมื่อราคาน้ำมันสูงก็นำเงินกองทุนไปช่วยไม่ให้สูงเกินไป แต่เมื่อราคาลดลงต่ำ รัฐบาลก็ต้องยังคงราคาน้ำมันไว้ไม่ให้ลดต่ำทันที เพื่อที่จะดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาเติมในกองทุน งบประมาณหรือเม็ดเงินต่างๆ ก็จะไม่ได้เสียเปล่าไป

อีกส่วนคือ กลุ่มคนที่ไม่ไหวจริงๆ รัฐบาลก็ควรเร่งการเปิดลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพราะว่าโครงการนี้จะเป็นกลไล ที่จะช่วยเหลือประชาชนแบบมีเป้าหมาย อย่างที่ทราบกันว่าการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลให้ลดลง กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์นั้นมีทั้งผู้ที่เดือดร้อนจริง เช่น ผู้ขับรถขนส่งต่างๆ แต่กลุ่มที่ไม่ได้เป็นคนจน แต่ต้องใช้น้ำมันดีเซลก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถจำกัดการช่วยเหลือได้ โดยเน้นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ถ้าตามเกณฑ์เดิม คือคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี และกลุ่มเกือบจน หรือผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

จากการประเมินอัตราเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัวถึง 5.28% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี และถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก เงินเฟ้อในส่วนนี้ไม่ได้มาจากค่าขนส่ง รวมกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาจริงต้องอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 ราคาอยู่ที่ 37.25 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาขึ้นจากเดือนมกราคม 2565 กว่า 6 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 17-18% แต่ถูกผลักดันมาจากต้นทุนการนำเข้า สินค้าอุปโภค บริโภค ที่แพงขึ้น จากผลกระทบซัพพลายเชนทั่วโลกขาดแคลน และค่าระวางเรือสูง

ส่วนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันโลก ปัจจุบันอยู่ที่ 105-106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยังไม่ถือว่าเป็นราคาสูงสุด และเป็นสัญญาณที่ดีว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่กระทบซัพพลายเชนมากนัก แต่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเดือดร้อนแน่นอน แต่เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาประเด็นนี้ว่าจะยืดเยื้อรุนแรงแค่ไหนต่อไป

ทั้งนี้ เชื่อว่าในเดือนมีนาคมนี้ ประเทศไทยจะเจอของจริง เพราะอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แน่นอน จากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นถึง 105-106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกสินค้า หากความขัดแย้งมีความยืดเยื้อยาวนานอาจส่งผลกระทบกับเส้นทางในการขนส่งสินค้า และในกรณีร้ายแรงอาจส่งผลให้สินค้าขาดแคลนได้อีกด้วย ดังนั้น จึงต้องติดตามว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้ ที่แทรกซ้อนขึ้นมาผสมโรงกับสถานการณ์
โควิด-19 ที่ยังวิกฤตในไทย จะสร้างผลกระทบมากแค่ไหน เชื่อว่าในเดือนมีนาคมนี้ จะได้เห็นภาพความเสียหายที่ชัดเจนขึ้นแน่นอน

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือที่รัฐบาลจะต้องรีบออกมา เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเบื้องต้นนั้น ต้องเริ่มจากการออกมาตรการช่วยเหลือให้ถูกจุดก่อน เพราะเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาตรการช่วยเหลือ มองว่านิ่มไปหน่อย เพราะในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการกระตุ้นอยู่แล้ว อาทิ โครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น และในเรื่องของการแปลงหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีการพูดถึงมานานแล้วแต่ยังปฏิบัติไม่ได้ และเรื่องการเร่งใช้จ่ายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นเรื่องไกลตัว มองว่าในภาวะเช่นนี้ควรแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องเป็น
สำคัญ

มองว่ารัฐบาลควรออกมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด อาทิ การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ว่าควรจะเติมเงินเข้าไปช่วยในส่วนไหนบ้าง รวมถึงช่วยเหลือเรื่องกับดักหนี้ครัวเรือนที่สูง ว่าจะแก้ไขอย่างไร หรือใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้และเติมเงินใหม่เข้าไป

ส่วนในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรที่จะเติมวงเงินแท้ๆ เข้าไป เช่น การมุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มที่มีรายได้น้อย ที่มีชื่ออยู่ในระบบกว่า 12-13 ล้านคน โดยการให้คูปอง หรือเติมเงินเข้ากระเป๋า เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image