วิษณุ ชี้ เริ่มรัชสมัยรัชกาลใหม่ตั้งแต่ 13 ต.ค. พระราชพิธีราชาภิเษกทำหลังการถวายพระเพลิง

“วิษณุ” แจง เริ่มรัชสมัยรัชกาลใหม่ตั้งแต่ 13 ต.ค. พระราชพิธีราชาภิเษกทำหลังการถวายพระเพลิง เผย “พระบรมฯ” รับสั่ง ให้ทุกอย่างเป็นปกติ เหมือนพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศยังอยู่ ยันข่าวลือผู้สำเร็จราชการตั้งพระมหากษัตริย์ไม่จริง แจง พล.อ.เปรม จบภาระผู้สำเร็จราชการ กลับมาเป็น ปธ.องคมนตรีได้

เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนพระราชพิธีราชาภิเษกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารว่า การพระบรมศพจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เพราะเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุ จะต้องใช้เวลาสักระยะในการดำเนินการตามธรรมเนียมราชประเพณีการถวายพระเพลิง และโดยปกติจะไม่ทำกันในหน้าฝน จากการเทียบกับโบราณประเพณีในอดีต ท่านได้มีพระราชบัณฑูรว่า เรื่องหน้าฝนอะไรนั้นก็เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของช่างไปว่ากันเอง แต่น่าจะมีการบำเพ็ญพระราชกุศล กว่าจะถึงเวลาออกพระเมรุก็คงใช้เวลาประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ตรงนี้ถือเป็นพระราโชบายที่รัฐบาลต้องทราบ เพื่อจะได้มาดำเนินการถูก ถ้าเร็วงานสร้างพระเมรุก็ต้องเร็ว

“ทั้งนี้ เมื่อไปเทียบกับคราวพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปี 2527-2528 หรือเทียบกับงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปี 2538-2539 เทียบกับงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อประมาณปี 2551-2552 และงานสุดท้ายพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปี 2554 นั้น หลังจากสวรรคตหรือสิ้นพระชมน์แล้ว การพระราชทานเพลิงพระบรมศพหรือพระศพนั้น จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วต่างกัน 5-6 เดือน 8-9 เดือนบ้าง อันนี้จำเป็นต้องขอรับพระราโชบาย ซึ่งได้พระราชทานพระราโชบายแล้วว่า น่าจะเป็นระยะเวลาที่ประชาชนชาวไทยจะต้องอาลัย และไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาบอกกันว่า จะถวายพระเพลิงช้าหรือเร็วอย่างไร เอาเป็นว่าจะอยู่ในระหว่างการบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างนี้ ไปเป็นอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจริงๆก็เท่ากับเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนไว้ทุกข์ แล้วอย่างอื่นเป็นเรื่องค่อยมาพูดกัน อย่างเช่น การกำหนดถวายพระเพลิงที่แน่ชัด การบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้น และอะไรต่ออะไรที่จะต้องตามมาหลังจากนั้น”

นายวิษณุ กล่าวว่า ย้ำอีกครั้งการเชิญขึ้นครองราชย์กับการบรมราชาภิเษกคนละเรื่องกัน ต่างกัน การเชิญขึ้นครองราชย์คือการสืบราชสันตติวงศ์ แต่บรมราชภิเษกเป็นเรื่องของพระราชพิธี พูดง่ายๆแบบฝรั่งคือการสวมมงกุฎ ในต่างประเทศเองก็ทิ้งเวลาเหมือนกันอย่างเจ้าชายจิกมี แห่งราชอาณาจักรภูฏานขึ้นรับราชสมบัติต่อจากพ่อ 1 ปี แล้วท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทันที แต่ท่านยังไม่สวมมงกุฎ เพราะโหรประเทศท่านคำนวณพระฤกษ์แล้ว ไม่มีศุภวาระดิถีมงคลในปีนั้น ก็ต้องทิ้งไป 1-2 ปี จึงจะไปถึงเวลาพระบรมราชาภิเษก ซึ่งประเทศอื่นๆไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือญี่ปุ่นที่เป็นราชอาณาจักรที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีก็ใช้หลักทำนองเดียวกัน เพียงแต่ช้าหรือเร็วต่างกัน สำหรับหลักการสร้างพระเมรุจะต้องเตรียมสถานที่ ต้องมีไม้ เตรียมราชรถ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าจะให้ตอบต้องตอบว่าประมาณ 1 ปี ตามพระราชโชบาย

Advertisement

เมื่อถามว่า จะมีการโยงกำหนดระหว่างถวายพระเพลิงกับการขึ้นบรมราชภิเษก นายวิษณุ กล่าว่า ไม่โยง ไม่เกี่ยว ขอให้เอากรณีของรัชกาลที่ 9 เป็นตัวอย่าง ท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จในวันที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต พอสามทุ่มท่านก็เป็นพระมหากษัตริย์ และวันนั้นก็นับเป็นวันที่ 1 ปีที่ 1 ของรัชกาล แต่ต้องเรียกท่านว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ แล้วท่านก็กลับไปเรียนต่อ ผ่านไป 4 ปี ท่านศึกษาจบและเสด็จกลับประเทศไทย จึงมีการถวายพระเพลิง จากนั้น ตามด้วยการมีพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 หรือที่เรียกว่า วันฉัตรมงคล และถือเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่บัดนั้น ความเป็นจริงเราบอกว่า ทรงครองราชย์ 70 ปี เราไม่เคยนับจากวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 แต่เรานับจากวันที่ 1 ปีที่ 1 ซึ่งก็คือ 9 มิถุนายน 2489 เพราะฉะนั้น ในกรณีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ก็จะเกิดตามหลักเดียวกัน

นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นทั้งประธานองคมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว และรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานองคมนตรีไม่ได้ ซึ่งต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 25 กำหนดไว้ว่าให้คณะองคมนตรี ประชุมปรึกษาเลือกองคมนตรี 1 คน ขึ้นเป็นประธานองคมนตรี เพราะมีภารกิจที่จะต้องทำ เช่น มีเหตุเพทภัยเกิดขึ้น และเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พ้นจากหน้าที่ก็จะมาเป็นประธานองคมนตรีเหมือนเดิม โดยที่ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการ ทุกอย่างเป็นไปโดยกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีอำนาจลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตก็เคยลงนามโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่น นายปรีดี พนมยงค์ เจ้าพระยายมราช พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และกฎหมายต่างๆ การแต่งตั้งข้าราชการ ผู้สำเร็จราชการสามารถลงนามได้

“ส่วนที่มีข่าวลือว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอำนาจเสนอชื่อพระมหากษัตริย์ ยืนยันไม่จริง เพราะเป็นเรื่องคณะรัฐมนตรี ที่จะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภา หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จากนั้นจะมีการประชุม สนช. เพื่อมีมติรับทราบ จากนั้นประธาน สนช.จะเข้าเฝ้าเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ จากนั้นจะประกาศให้ประชาชนชาวไทยรับทราบ บัดนั้นประเทศไทยจะมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสมบูรณ์ และราชสมบัติจะไม่มีวันขาดตอนลง หมายความว่ารัชสมัยแห่งรัชกาลใหม่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ใช้ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาล รวมทั้งโบราณราชนิติประเพณี เพราะบางเรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีคำตอบ เช่น รัชทายาทมาจากไหน เป็นใคร แต่เมื่อตั้งรัชทายาท รัชทายาทจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนขั้นตอนการดำเนินการจะใช้โบราณราชประเพณี

นายวิษณุ กล่าวว่า รัชทายาทไม่สามารถลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพราะพระรัชทายาทเป็นที่ 2 รองจากพระเจ้าอยู่หัว และไม่มีอำนาจใดๆ ยกเว้นในส่วนพระราชพิธีอย่างที่เห็นในพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาฯ จะทรงบัญชาการในส่วนนี้ และทรงเอาพระทัยใส่อย่างมาก

ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวช่วงท้ายด้วยน้ำตาคลอเบ้าและร้องไห้ว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รับสั่งกับนายกฯว่า ขอให้ทุกอย่างในช่วงนี้ อย่างน้อยก็ช่วงนี้ให้อยู่เป็นปกติเหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศยังทรงสถิตย์อยู่ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าแผ่นดินว่างเปล่าและทุกอย่าง อย่าเพิ่งให้เป็นอดีตเร็วนัก เก็บมันไว้ให้เป็นปัจจุบันเพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้เราเป็นลูก เราเป็นหลาน เราเป็นญาติ เราก็คงเคยทำอย่างนี้กับพ่อเรา แม่เรา คู่สมรส คนรักของเราที่ตาย เราอาจจะเห็นว่าบางครั้ง เรากินข้าวเรายังตั้งเก้าอี้ไว้และบอกแม่พ่อ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image