ส่องสูตรคำนวณ ปาร์ตี้ลิสต์ฉบับพิสดาร หาร 100 หรือหาร 500

สกู๊ปหน้า 1 : ส่องสูตรคำนวณ ปาร์ตี้ลิสต์ฉบับพิสดาร หาร 100 หรือหาร 500

หลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. … ) พ.ศ. … โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 และกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากเดิม 1 ใบเพื่อเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

ส่วนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้ใช้วิธีเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาซึ่งการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น และมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจที่ถกเถียงกันในชั้น กมธ. คือวิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะ กมธ. ใช้สิทธิเสนอแปรญัตติในชั้น กมธ. โดยให้ความเห็นว่า ข้อเสนอต้องการคงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ข้อ คือ ส.ส.พึงมี คะแนนไม่ตกน้ำ และระบบจัดสรรปันส่วนผสม

Advertisement

ทั้งนี้ ตนและกลุ่มพรรคเล็กมีข้อเสนอ 2 อย่าง คือ 1.ให้นำคะแนนพรรคทั่วประเทศหารด้วย 500 เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อหนึ่ง ส.ส.พึงมี จากนั้นจึงจะไปคิด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคได้ เมื่อได้ ส.ส.พึงมีออกมาก็จะสามารถคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยเอา ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขต ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตมากหรือไม่ หากพรรคใดที่ได้ ส.ส.เขตมากก็ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

2.ในส่วนที่เสนอว่าให้นำทั้งคะแนนพรรคและคะแนนเขตมาบวกกันและหารด้วย 500 ซึ่งเมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน จากนั้นจึงไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคโดยนำคะแนนเขตทุกเขตมาบวกกันจากนั้นจึงค่อยไปบวกกับคะแนนทั่วประเทศเลือกเอาจากทุกเขต และหารด้วยคะแนนเฉลี่ยจะได้ ส.ส.พึงมีของพรรค

ส่วนการหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการนำ ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขต ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบวิธีของตน เจตนารมณ์ทั้ง 3 ข้อของรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่หมด

Advertisement

แต่หลักการแบบแรกนั้นคะแนนเขตจะตกน้ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กมธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนข้อเสนอของพรรคใหญ่จะทำให้ไม่มี ส.ส.พึงมีและคะแนน ส.ส.เขตตกน้ำระบบจัดสรรปันส่วนก็ตกไป รวมถึงทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกละเมิด จึงเสนอตามแนวทางของตนขึ้นมา

ส่วนที่เสนอเช่นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นพรรคเล็กและจะหนีตาย แต่เพื่อให้หลักการของรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ ซึ่งหากแพ้ในชั้น กมธ. ก็จะขอสงวนคำแปรญัตติสู้ในสภาใหญ่

แม้สุดท้ายผลจะเป็นเช่นไรนั้น สำหรับตนขอสู้จนสุดความสามารถก่อน และจะยอมรับผลตามหลักการประชาธิปไตย

ขณะที่ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษก กมธ. ให้ความเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า พรรคเล็กคงต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งก็สามารถคิดได้แต่ทำไม่ได้ เพราะในชั้น กมธ.ไม่สามารถแปรญัตติได้ เพราะเขาเรียกว่าเกินหลักการ เนื่องจากหลักการที่รับจากรัฐสภานั้น ไม่มีเรื่องนี้เลย กฎหมายพรรคการเมืองทั้ง 4 ฉบับนั้น มีเฉพาะที่หารด้วย 100 เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างของพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน และเรื่องนี้ก็ผ่านมาแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีก ซึ่งสิ่งที่จะต้องถกเถียงกันนั้น
จะเป็นเรื่องของบัตรเลือกตั้งจะเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ ทั้งเขตทั้งพรรค รวมถึงพรรคการเมืองจะทำไพรมารีโหวตหรือไม่ เนื่องจากร่างของพรรคคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้เขียนเรื่องการทำไพรมารีโหวตไว้

ขณะที่ร่างของ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ระบุเรื่องการทำไพรมารีโหวตไว้ว่าให้ทำเฉพาะเขตจังหวัด ซึ่งพรรค พท.และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการทำไพรมารีโหวต แต่เราก็เห็นใจว่าพรรคเล็กจะเสียโอกาสจึงเห็นพ้องกับญัตติของนายวิเชียร ซึ่งทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตนั้น จะเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ในชั้น กมธ.ได้เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นปลีกย่อยและคงไม่สามารถนำเข้าชั้น กมธ.ได้ ซึ่งเรื่องหารด้วย 500 คนนั้น ไม่ต้องไปคิดอีก เพราะมันทำไม่ได้

สมคิด อธิบายด้วยว่า ส่วนหากในวาระสุดท้ายแล้ว ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้ใช้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 คนนั้น จะทำให้พรรคเล็กมีขนาดเล็กลงอีกหรือไม่นั้น มันไม่เกี่ยวเท่าไร พรรคเล็กก็ทำให้โตขึ้น ต้องหาวิธีการ อย่างพรรคประชาธิปไตย ที่ระบุว่าอย่างไรก็ได้ เขาผ่านมาแล้วทั้งระบบบัตรเลือกตั้งสองใบและใบเดียว เขาสู้ ฉะนั้น อยู่ที่ว่าจะเอาเรื่องอะไร พรรคเล็กก็อย่างที่เห็น จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและรัฐบาลก็พลอยอ่อนแอไปด้วย ต่อไปรัฐบาลจะเลี้ยงกันด้วยกล้วยต่อไปเช่นนี้หรือ

เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาโดยทำให้อย่างน้อยพรรคการเมืองจะแข็งแรงขึ้น นโยบายที่เกิดขึ้น ประชาชนได้รับการตอบสนองมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มองว่าพรรคใดได้และเสียเปรียบ แน่นอนว่าพรรคใหญ่และขนาดกลางก็ไม่ได้เสียเปรียบมาก

ฉะนั้น พรรคเล็กๆ ก็ทำตัวให้ใหญ่ขึ้นได้ ต้องค่อยๆ ไป และพัฒนาการพรรคการเมืองจะไปของมันเอง หากรวมตัวกันมันก็จะใหญ่ขึ้น อีก 5-10 ปีอย่ามายึดอำนาจก็แล้วกัน พรรคจะโตขึ้นเอง ซึ่งก็เปรียบเสมือนกันกับเด็กที่ค่อยๆ โตขึ้น ฉะนั้น พรรคเล็กอย่าหวั่นวิตกเลย มันเป็นเรื่องการเมืองที่มอง 2 แง่ 2 มุม หากมองแต่มุมพรรคตนเองก็จะได้อย่างที่เห็น

ทั้งนี้ สุดท้ายก็มองว่าจะได้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่หารด้วย 100 คน ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะหลักการที่เขียนไว้ชัดเจนแล้วไม่ว่าจะของ ครม. หรือพรรคต่างๆ ก็เขียนไว้ว่าหารด้วย 100 ทั้งหมด

ฉะนั้น หลักอื่นจะเข้ามาไม่ได้ และก็ไม่อยากไปจำกัดความคิดของพรรคเล็ก เขามีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นแต่ไม่มีสิทธิที่จะทำได้

ทั้งหมดทั้งมวลจึงอยู่ที่มติของรัฐสภา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาว่าจะยึดหลักการของกฎหมายใด มาใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ว่าจะใช้สูตรพิสดาร ผ่านการออก 2 กฎหมายลูก มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้ากันแบบไหน อย่างไร!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image