พระราชกรณียกิจด้านนิติบัญญัติ

หมายเหตุ – พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านนิติบัญญัติ อ้างอิงจาก “พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย” สถาบันพระปกเกล้า

พระราชอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของการเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย

ตลอด 60 ปีแห่งการเสวยราชสมบัติของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระปฐมบรมราชโองการ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันแหลมคมของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ที่ทรงแสดงให้เห็นถึงหลักการในระบอบประชาธิปไตย การคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งความห่วงใยต่อปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทรงตักเตือนทุกฝ่ายทั้งในเรื่องการดำรงชีวิต ความซื่อสัตย์สุจริต การบริหารประเทศ และแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่คนไทย นักวิชาการ นักการเมือง รัฐบาลไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรนำไปเป็นหลักการและแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของตนเองอย่างจริงจังให้เกิดผลต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตและพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ดังตัวอย่างที่ได้อัญเชิญมาแสดงต่อไปนี้

พระปฐมบรมราชโองการ

พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นพระบรมราชโองการที่แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานที่จะทรงปฏิบัติพระองค์ในฐานะของประมุขของประเทศไทย ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยยึดหลัก “ธรรมาธิปไตย” ในการใช้พระราชอำนาจ

Advertisement

และพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมหรือธรรมะในการปกครองประเทศ ราชสังคหะหรือธรรมะในการทำนุบำรุงราษฎร และจักรวรรดิวัตรหรือธรรมะในการคุ้มครองป้องกันอาณาประชาราษฎร์ โดยตลอดระยะเวลาการครองราชย์ พระองค์ทรงไว้ซึ่งธรรมะในการปกครอง และทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมโดยเคร่งครัดต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องทรงลำบากตรากตรำ ต้องเผชิญกับความยุ่งยาก ต้องใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความรับรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ต้องใช้ความรู้จริง ต้องมีความมุ่งมั่น มีความอุตสาหะมานะ และมีความขยันหมั่นเพียรสูง

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มากมาย เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติ รวมทั้งบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วทั้งประเทศ พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เองหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งเป็นหลักการที่มีความสอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง

พระราชดำรัส พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย

Advertisement

ตลอด 60 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัส พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพอันแหลมคมของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปนี้

การบริหารราชการแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวคิดในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีความสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตามหลักการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ตุลาการ และผู้บริหารทุกฝ่าย ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ และความถูกต้องตามกฎหมาย ความซื่อสัตย์ และความสามัคคี

พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสความว่า “คณะรัฐมนตรีนี้ก็มีงานที่สำคัญที่สุด ความเป็นอยู่จะดีจะก้าวหน้าของประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนก็อยู่ที่การปฏิบัติของคณะรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เพราะคำว่ารัฐบาล ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่รักษารัฐ ผู้ที่ทำนุบำรุงรัฐ รัฐนั้นคือประเทศชาติ ส่วนรวม หรือถ้าพูดถึงคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็เป็นมนตรีในรัฐมนตรีก็คือผู้ที่มีความสำคัญ มีความรู้ มีความตั้งใจที่จะทำงาน รัฐก็คือประเทศชาติส่วนกลางและมนตรีของรัฐนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ของรัฐ เป็นผู้ที่สามารถที่จะใช้ความรู้และนำความรู้นั้นมาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ นอกจากมีความตั้งใจมั่นแล้ว ก็มีความตั้งใจตามที่ได้ปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์สุจริต ซื่อสัตย์สุจริตนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าหากว่าแต่ละคนมีความตั้งใจแล้ว แต่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน จะเปะปะไปทางโน้นทีทางนี้ที ไม่มีทางที่จะสำเร็จในงานการใดๆ…”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ความว่า “สมาชิกรัฐสภาคือผู้ได้รับมอบหมายจากปวงชน ให้มาปรึกษาหารือการดำเนินการปกครองประเทศให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ดังนั้น การอภิปรายทั้งปวงจึงควรเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เพื่อสิ่งอื่น?”

สำหรับบทบาทหน้าที่ของตุลาการก็มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเช่นกัน ดังพระราชดำรัสความว่า “…ผู้ที่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความยุติธรรมหรือความเป็นธรรม จึงควรระมัดระวังให้มากคือ ควรจะได้ทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่รักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้วงแคบอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย?” และ “ท่านจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้นเอง แต่ด้วยความรู้ที่ท่านได้ขวนขวายมา จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษานั้นมีอำนาจที่จะตัดสินอะไร นับว่าเป็นคนสำคัญมากของประชาชน ทั้งคนที่ไปรับบริการของท่าน อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำคดีอะไรก็ต้องมีคนที่ถูก คนที่ผิด ท่านต้องเห็นว่าใครถูกใครผิด และตัดสินพิพากษาอย่างถูกต้อง การพิพากษาอย่างถูกต้องนั้น จะต้องมีความรู้ตัวบทกฎหมายต่างๆ และมีความสามารถ มีความยุติธรรมในใจ?”

สำหรับช่องโหว่ของกฎหมาย ทรงมีพระราชดำรัสความว่า “…กฎหมายนั้น มีไว้สำหรับให้มีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตรงไปตรงมาตามตัวบท จำต้องใช้ความพินิจพิจารณาอยู่เสมอ จึงต้องมีศาลไว้ถึงสามศาล และต้องสำนึกว่ากฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้สมองคิด และสมองนี้สามารถที่จะยืดหยุ่นได้…” และมิให้นำช่องโหว่ของกฎหมายไปใช้ในทางทุจริต ดังพระราชดำรัสความว่า “…กฎหมายนี้มีช่องโหว่เสมอ ถ้าเราถือโอกาสในการมีช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อการทุจริตนั้นเป็นสิ่งที่เลวทราม และทำให้นำไปสู่ความหายนะ แต่ถ้าใช้ช่องโหว่ในกฎหมายเพื่อสร้างสรรค์ก็เป็นการป้องกันมิให้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในทางทุจริต…”

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญยิ่งสิ่งอื่นใด ความว่า “…ผู้บริหารทุกฝ่ายมุ่งกระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจจริงและด้วยความคิดพิจารณาโดยสติรอบคอบ ทั้งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น?” และ “ความเจริญผาสุกและความตั้งมั่นของบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่บุคคลพึงรำลึกถึงและพึงประสงค์ และความเจริญมั่นคงนั้นจะเกิดขึ้นมีได้ก็ด้วยผู้บริหารทุกฝ่ายมุ่งกระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจจริง และด้วยความคิดพิจารณาโดยสติรอบคอบ ทั้งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น?”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสในการส่งเสริมคนดีให้เข้ามาปกครองบ้านเมือง ความว่า “…ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image