บทนำ : ภัยแล้งมาแล้ว

บทนำ : ภัยแล้งมาแล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยภาคการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ จากภาวะฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูแล้ง จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือภัยแล้งเตรียมช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565 กำชับให้วิเคราะห์สถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้านให้กับเกษตรกร และแจ้งเตือนทุกระยะ

โฆษกรัฐบาลเผยด้วยว่า นายกฯ ยังกำชับให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ให้ควบคุมต้นทุนสินค้าเกษตร สินค้าจำเป็น ทั้งผักสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่อย่างใกล้ชิด เพราะมีปัญหาผลผลิตขาดแคลน และราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขอให้ลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งผลิต แหล่งเลี้ยง เพื่อตรวจสอบแนวโน้มผลผลิตที่สะท้อนความเป็นจริง เพื่อเตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า ภาครัฐยังเตรียมการแหล่งน้ำต้นทุน รองรับการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยเมื่อ 7 มีนาคมที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ทำ MOU ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนไว้รองรับสำหรับการผลิตน้ำสะอาดสนับสนุนการอุปโภคและบริโภค ให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

ฤดูร้อนมาถึง ภัยแล้งก็มาถึงเช่นกันตามวงรอบของฤดูกาล รัฐบาลระบุด้วยว่า ปี 2564 มีฝนตกชุก มีน้ำฝนมากกว่าปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ฝนตกใต้เขื่อนไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับ ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย อาจส่งผลหลายพื้นที่ ผลกระทบที่จะตามมา ได้แก่ ผลผลิตการเกษตรอาจขาดแคลน และมีการขึ้นราคา ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในห้วงวิกฤต กลายเป็นสภาพซ้ำเติมประชาชน ภาคการเกษตรไทยมีศักยภาพสูงสร้างรายได้หล่อเลี้ยงประเทศ แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ คือ การแก้ภัยแล้งระยะยาว และการกักเก็บน้ำระยะยาว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image