ธนาธรนำแถลงเปิดร่างแก้รธน.หมวด14 ทลายรัฐรวมศูนย์ ลั่น “ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ”

‘ธนาธร’ ลั่น “ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ” นำ ‘คณะก้าวหน้า’ แถลงเปิดร่างแก้รธน. หมวด 14 ทลายรัฐราชการรวมศูนย์-ยุบส่วนภูมิภาค ปูทางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คืนอิสระบริหารตัวเอง พร้อมเปิด 22 รายชื่อผู้เชิญชวน ก่อนคิกออฟแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” 1 เม.ย.นี้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 มีนาคม ที่อาคารอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นำคณะก้าวหน้า แถลงข่าวเตรียมยื่นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น และเปิดรายชื่อผู้เชิญชวนเสนอกฎหมายจำนวน 22 คน ประกอบด้วย นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น นักวิชาการ และนักการเมือง พร้อมทั้งเตรียมเปิดแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2565 ด้วย

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเทศไทยเราพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมานาน โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ได้เริ่มการวางหลักการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเอาไว้ แต่การกระจายอำนาจยังไปไม่ถึงไหน รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้การกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นสะดุดหยุดลง รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง และรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่แม้จะมีหมวดที่ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ในหมวดที่ 14 เหมือนกับที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 มี แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแต่ละมาตราแล้วพบว่า หลักการกระจายอำนาจ หลักการเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมย์ของท้องถิ่นนั้น ไม่อาจบังเกิดขึ้นได้ จริงอยู่ว่าวันนี้เรามีการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระดับเทศบาล ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปทั้งหมดแล้ว และปลายเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามมา แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่

นายปิยบุตร กล่าวว่า หากเราจะดูว่าการกระจายอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่นได้สมบูรณ์หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องความเป็นอิสระ การจัดทำบริการสาธารณะ ความเป็นอิสระทางการคลังของท้องถิ่น และส่วนกลางทำเพียงดูแลกำกับท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับบัญชา แต่ในความเป็นจริงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันจะพบเห็นว่าอำนาจหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดความซ้ำซ้อนและทับซ้อนกับราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลางหลายเรื่อง องค์กรผู้มีอำนาจตีความกฎหมายก็ตีความกฎหมายในลักษณะที่จำกัดอำนาจหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น และท้องถิ่นไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค อ้างตนเองว่าจะใช้อำนาจกำกับดูแลท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติแล้วหลายต่อหลายเรื่องเสมือนกับเป็นการบังคับบัญชาเข้าไปสั่งการและแทรกแซงการไปทำงานของท้องถิ่นเสมอมา

Advertisement

นายปิยบุตร กล่าวว่า ในสายตาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบันพวกเขามองท้องถิ่นเสมือนเป็นลูกน้อง เป็นแขนขา และกลไกของพวกเขา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่มาเราได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้จัดทำเป็นนโยบายที่ชื่อว่ายุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อตั้งใจว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะจัดการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจให้เรียบร้อยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่เรายังไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาลและบังเอิญว่าถูกยุบพรรคไปเสียก่อน กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี เราจึงมาก่อตั้งเป็นคณะก้าวหน้าขึ้นมาพร้อมกับยืนยันว่าจะรณรงค์แนวคิดนโยบายต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่วางไว้ต่อไป หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือการกระจายอำนาจ และเรายังสนใจการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจด้วย เราจึงเปิดการรณรงค์เพื่อเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวด 14 ว่าด้วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ที่เปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยนำเนื้อหาสิ่งดีๆ ที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เข้ามา พร้อมกับเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่ๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาเรื้อรังมาตลอดเกือบ 3 ทศวรรษ

นายปิยุบตร กล่าวว่า หลักใหญ่ใจความของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 ประกอบด้วย 1.เราจะบัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นและหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมย์ของประชาชนในท้องถิ่น 2.เราจะบัญญัติอำนาจหน้าที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น มีบางเรื่องเท่านั้นที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักร เรื่องระบบเงินตราการต่างประเทศ นอกนั้นแล้วท้องถิ่นสามารถทำได้ทั้งหมด เว้นเสียแต่ว่าบางกรณีที่ท้องถิ่นเห็นว่าตนเองมีศักยภาพไม่เพียงพอหรือร้องขอให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วย 3.เราจะเข้าไปแก้ปัญหากฎหมายซ้ำซ้อน ที่กำหนดให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะแบบเดียวกันกับที่ท้องถิ่นทำ ทำให้เกิดปัญหาว่าใครมีอำนาจทำกันแน่ 4.เราจะจัดการแก้ไขปัญหาเรื้อรัง กรณีมีแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปให้ท้องถิ่นภายในกี่ปี ถึงเวลาแล้วก็ไม่ทำตามกำหนดจึงไม่มีสภาพบังคับเกิดขึ้น โดยในร่างแก้ไขของเราจะระบุว่าหากถ่ายโอนอำนาจภายในกี่ปี แล้วเมื่อครบระยะเวลาแล้วยังไม่ถ่ายโอนตามกำหนดให้ถือว่าถ่ายโอนไปเรียบร้อยแล้วโดยผลของรัฐธรรมนูญ 5.เรารับรองและยืนยันว่าในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นแบบทั่วไปหรือแบบพิเศษ 6.เราให้ออกกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องของรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเสนอให้เพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้กับรายได้ที่ส่วนกลางได้รับในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 ภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันอยู่ในอัตราที่ 65 ต่อ 35

Advertisement

7.การเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้กับท้องถิ่นในการหารายได้ เช่น การกู้เงินและการออกพันธบัตร และการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การรวมตัวกันกับท้องถิ่นต่างๆ ในการตั้งสหการหรือมอบอำนาจให้เอกชนเข้ามาทำแทนในบางเรื่องบางประเด็น 8.ทุกวันนี้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอ้างว่า กำกับดูแลท้องถิ่น แต่เป็นการกำกับดูแลเกินไปกว่าหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว โดยเราจะเข้าไปจัดการการกำกับดูแลในส่วนนี้เพื่อให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ 9.เราสนับสนุนเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารจัดการท้องถิ่น เช่น การตั้งสภาพลเมือง เพื่อตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอนผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณในระดับท้องถิ่น และ10.การวางโรดแมปของประเทศไทยว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทำแผนการว่า หากยกเลิกแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้างและภายใน 5 ปี ครม. จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามประชาชนว่าประชาชนต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วหรือไม่

“เนื่องด้วยพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 กำหนดกระบวนการขั้นตอนเอาไว้ว่า เมื่อเราร่างเสร็จแล้วจะไม่สามารถรณรงค์เข้าชื่อได้ทันที แต่จำเป็นต้องนำร่างนี้พร้อมรายชื่อของผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนไปยื่นต่อประธานรัฐสภาเสียก่อน วันนี้เป็นวันแรกที่เราเปิดร่างนี้ขึ้นมาแล้วเราจะรวบรวมรายชื่อผู้เชิญชวนทั้งหมด 20 คนเพื่อนำร่างฉบับนี้ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา หลังจากนั้นประธานรัฐสภาจะแจ้งกลับมา จากนั้นเราจะเริ่มต้นรณรงค์ล่ารายชื่อทั่วประเทศได้ทันที โดยเราวางกำหนดการณ์ไว้ว่าในวันที่ 1 เมษายน 2565 เราจะเริ่มเข้าชื่อเป็นวันแรก เราเชื่อว่าการรณรงค์ของเราในครั้งนี้ ในชื่อของ ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่นนั้น จะทำให้การกระจายอำนาจในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงเสียที ถ้าประเทศไทยไม่จัดการเรื่องการกระจายอำนาจ และไม่ให้ความเป็นอิสระกับท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดินในรัฐราชการรวมศูนย์เช่นนี้จะเป็นต่อไปได้อย่างยากลำบากและเกิดอุปสรรคนานัปการ ไม่สามารถตอบข้อเสนอและข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ เราเชื่อว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะสามารถหาฉันทามติและฉันทานุมัติจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มการเมืองใดการเมืองหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารราชการแผ่นดิน ประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และประโยชน์ของอนาคตประเทศไทย

โดยนายธนาธร กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ของเรา ประกอบด้วยผู้เชิญชวนทั้งสิ้น 22 คนได้แก่ 1.)นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 2.)นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า 3.)น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า 4.)นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการคณะก้าวหน้า 5.)น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการคณะก้าวหน้า 6.)นายไกลก้อง ไวทยากร กรรมการคณะก้าวหน้า 7.)น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการคณะก้าวหน้า 8.)นายสุรชัย ศรีสารคาม กรรมการคณะก้าวหน้า 9.)ชัน ภักดีศรี กรรมการคณะก้าวหน้า 10.)นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center 11.)นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา 12.)นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง 13.)นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและอดีตนายกเทศมนตรี 14.)นายเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด 15.)นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 16.)นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ 17.)นายนายธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการ 18.)นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการ 19.)นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 20.)นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้บริหารบริษัทเอกชน 21.)นายพิพัฒน์ วรสิทธิ์ดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และ22.)นายบรรณ แก้วฉ่ำ นิติกรชำนาญการข้าราชการท้องถิ่น

“เราจะเปิดแคมเปญให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ภายใต้ชื่อขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับพวกเราก็อยากจะขอพลังและความร่วมมือ เข้าชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นและปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนทั้งประเทศไทยไปด้วยกันประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ” นายธนาธร กล่าว

เมื่อถามว่า หากนายกฯ ยุบสภาหรือลาออก การเปิดแคมเปญนี้จะทำอย่างไรต่อ นายปิยบุตร กล่าวว่า ถ้ามีการยุบสภาก็จะขึ้นอยู่ที่ว่ายุบวันไหน ถ้ายังไม่ได้ยื่นร่างเข้าสภาฯ เท่ากับว่ากระบวนการยังไม่จบ เราก็จะล่าชื่อต่อไปเรื่อยๆ และรอสภาฯ ชุดใหม่เข้ามาค่อยยื่นก็ได้ แต่ถ้ายื่นไปแล้วและมีการยุบสภาเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญระบุว่าสภาฯ ชุดใหม่สามารถเสนอร่างที่คาไว้อยู่กลับมาพิจารณาใหม่ก็ได้เช่นกัน ฉะนั้น นอกจากดูปฏิทินทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้แล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องนี้เป็นการรณรงค์ทางความคิดกับประชาชนทั่วประเทศว่า ตกลงแล้วเราต้องการการกระจายอำนาจหรือไม่ เราอยู่กับรัฐราชการรวมศูนย์แบบนี้ไม่ได้หรือไม่ ส่วนวันไหนได้เข้าสภาฯ เป็นเรื่องของอนาคต ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่าเมื่อได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ร่างนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายชื่อผู้เชิญชวนทั้ง 22 คน จะพบว่ามีผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานท้องถิ่นจริง รวมถึงนักการเมืองจากหลายพรรค ดังนั้น ตนเชื่อว่าเมื่อการรณรงค์เกิดขึ้นจะเกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนทั้งในระดับสังคมและระดับการเมือง ซึ่งตนเชื่อว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image