ส่องสเปก-นโยบาย ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.

ส่องสเปก-นโยบาย ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.

ห่างหายไปนานเกือบ 9 ปีที่คนกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสได้เข้าคูหากาบัตรเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ามาทำหน้าที่บริหารเมืองหลวงของประเทศ หากย้อนกลับไปการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ครั้งนั้น “คุณชายหมู ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สามารถเอาชนะคู่แข่ง ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนแบบท่วมท้นถึง 1,256,349 คะแนน
แต่ทว่าวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ต้องยุติบทบาทและพ้นจากตำแหน่งทันที ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมกับมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แทน โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น จึงทำให้ผู้ว่าฯอัศวินปฏิบัติหน้าที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น มีการส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าจะถูกกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นลำดับสุดท้ายของการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทั่งความชัดเจนเริ่มปรากฏขึ้น เมื่อกระทรวงมหาดไทย (มท.) ชงแผนการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และเมืองพัทยา เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และ ครม.ไฟเขียวให้มีการเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 และรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน
2565

หากไล่เรียงรายชื่อแคนดิเดตว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่ทยอยเปิดตัวออกมากันนั้น ต้องยอมรับเลยว่าแต่ละคนทั้งที่ประกาศลงในนามผู้สมัครอิสระหรือพรรคการเมืองสนับสนุน ล้วนแล้วมีโปรไฟล์ไม่ธรรมดาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน

เริ่มต้นคนแรกด้วยอดีตรัฐมนตรีคนดังเจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วัย 55 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศเปิดตัวขออาสารับใช้พี่น้องชาว กทม.เป็นคนแรก ในนามผู้สมัครอิสระ มาพร้อมกับสโลแกน “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ชัชชาติ” ก็ได้แถลงเปิดตัว 200 นโยบายด้วยแนวคิด “กรุงเทพฯ 9 ดี” หลังเจ้าตัวใช้เวลากว่า 2 ปี ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและรับฟังความต้องการของชาว กทม. ซึ่งนโยบายกรุงเทพฯ 9 ดี ครอบคลุมความต้องการและความจำเป็นของชาวกรุงเทพฯ 9 ด้าน ประกอบด้วย ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี

Advertisement

คนต่อมาที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ออกมาเปิดตัวขอชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ในนามผู้สมัครอิสระ คือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล วัย 68 ปี ใช้สโลแกนหาเสียงว่า “กทม.มีทางออก บอกรสนา” ความน่าสนใจของว่าที่ผู้สมัครหญิงรายนี้ นั่นคือเคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม.ปี 2551 ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว คือ 743,397 คะแนน ประกอบกับประวัติการทำงานที่ผ่านมาก็ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิประชาชน มีบทบาทและดำรงตำแหน่งหลากหลาย เน้นยุทธศาสตร์การหาเสียงเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ต่อด้วย ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วัย 49 ปี ประกาศเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยขอโอกาสนำประสบการณ์กว่า 30 ปี มาแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองหลวงของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้” ล่าสุดในงาน “The 2 Leaders Visions วิสัยทัศน์ ของสองผู้นำ” ดร.เอ้ประกาศว่า พื้นที่ กทม.มีทั้งหมด 50 เขต เดินมาแล้ว 40 เขต ไม่หยุดแม้แต่วันเดียว เหนื่อย แต่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯเพื่อให้ถึงเป้าหมาย แก้ปัญหาซ้ำซากให้จบที่รุ่นเรา ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ประกาศว่านวัตกรรมใหม่ในการบริหารกรุงเทพฯยุคพรรค ปชป. และยุคนายสุชัชวีร์ จะต้องมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรุงเทพฯบริหารมินิไทยแลนด์ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กทม.ด้วย

คนต่อมาสร้างความฮือมาเป็นอย่างมาก เมื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศเปิดตัว นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค ก.ก. ยอมสละเก้าอี้ ส.ส.ซึ่งเป็นงานการเมืองระดับชาติ และอาสาขอมาทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ โดยใช้สโลแกนเปิดตัวว่า “ผู้ว่าฯพร้อมชน หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม” ซึ่งหลังเปิดตัวเป็นแคนดิเดต เจ้าตัวลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชูนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายปราบส่วย ทำการเมืองโปร่งใส แก้ปัญหาด้านสาธารณสุข และตั้งใจจะลงพื้นที่พร้อมกับผู้สมัคร ส.ก.ให้ครบทั้ง 50 เขตด้วย

Advertisement

ส่วนอีกหนึ่งคนที่เพิ่งประกาศเปิดตัวขอชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.นั่นคือ นายสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งเจ้าตัวตัดสินใจไขก๊อกลาออกจากเก้าอี้รองผู้ว่าฯกทม.มาขอสู้ศึกในนามผู้สมัครอิสระ ชูสโลแกน “กรุงเทพฯดีกว่านี้ได้” โดยเตรียมจะเปิดตัวและนโยบายอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม ภายใต้ชื่องาน ถึงเวลาซะ “ธี”

ส่วนอีกหนึ่งคนที่ต้องลุ้นและจับตาดูว่าจะตัดสินใจลงแข่งขันสนาม กทม.ในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ นั่นคือ “ผู้ว่าฯอัศวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้ช่วงหลังๆ มานั้นเพจเฟซบุ๊กผู้ว่าฯ “อัศวิน” ได้มีการโพสต์ข้อความและภาพผลการทำงานในด้านต่างๆ พร้อมกับติดแฮชแท็ก “กรุงเทพฯเปลี่ยนไปแล้ว” แต่เจ้าตัวก็ยังตอบแต่เพียงว่า “กำลังตัดสินใจอยู่” ทั้งนี้ ถ้าหากผู้ว่าฯอัศวินตัดสินใจจะลงสู้ศึกเลือกตั้งตามระเบียบจะต้องลาออกภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง คือภายในวันที่ 27 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ดี แม้ผลสำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่พบว่าประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ยังคงเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเปิดโฉมหน้าผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ออกมาทั้งหมดแล้ว คนกรุงในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะตัดสินใจเลือกใครมาทำหน้าที่บริหารเมืองหลวงของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image