ศึกชิงพรรคเล็ก ตัวแปรชี้วัด ‘รัฐบาล’ อยู่หรือไป

สกู๊ปหน้า 1 : ศึกชิงพรรคเล็ก ตัวแปรชี้วัด ‘รบ.’อยู่หรือไป

สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนับถอยหลังปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566

กลุ่มผู้มีอำนาจนำของรัฐบาล โดยเฉพาะ “กลุ่ม 3 ป.” คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ที่มีปัจจัยร้อนทางการเมืองที่จะชี้ขาด การ “อยู่” หรือ “ไป” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนับถอยหลัง 1 ปีสุดท้าย โดยเฉพาะช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป ที่จะมีประเด็นร้อน ทั้งญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ต้องอาศัยทุกเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล ในฐานะเสียงข้างมาก โหวตชี้้ขาดด้วยเสียงข้างมาก

Advertisement

แต่ปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำ อย่างพรรค พปชร. ยังคงมีคลื่นใต้น้ำอยู่ภายในพรรคเป็นระยะๆ แม้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ทั้ง 18 คน จะยกคณะไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) หลังจากพรรค พปชร.มีมติขับออกจากพรรคไปแล้ว แต่สายสัมพันธ์ ของ “ร.อ.ธรรมนัส” ที่มีต่อเพื่อน ส.ส.ทั้งในพรรค พปชร. และกลุ่มพรรคเล็ก ที่มี ส.ส. 1 เสียง รวมกลุ่มกันในนาม “กลุ่ม 16” ที่มี “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่ปัจจุบันย้ายมารวมกับพรรค พปชร. ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความแนบแน่น ชนิด “มองตาก็รู้ใจ” ยังคงสร้างความหวาดระแวง ให้กับ “บิ๊กตู่” ว่าจะมีปฏิบัติการล้มนายกฯ ภาค 2 ในสภาอีกหรือไม่

เห็นได้จาก วงรับประทานอาหารเที่ยง ระหว่าง “ร.อ.ธรรมนัส” กับแกนนำกลุ่มพรรคเล็ก ที่ห้องอาหารจีน โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณถึงความแนบแน่นแบบ “ใจถึงใจ” หลังจากกลุ่มพรรคเล็ก พรรคกลาง ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหาร ระหว่าง “บิ๊กตู่” กับ แกนนำรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม
ที่ผ่านมา

ส่งผลให้แกนนำรัฐบาลต้องรีบแก้เกมส่ง “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. ต่อสายเชิญแกนนำพรรคเล็ก พรรคกลางที่ร่วมรัฐบาลทุกพรรค มาร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ “กลุ่ม 3 ป.” รวมทั้งแกนนำรัฐบาล ในวันที่ 17 มีนาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์ เพื่อช่วงชิงและทำความเข้าใจให้กลุ่มพรรคเล็กสนับสนุน “บิ๊กตู่” เหมือนเดิม

Advertisement

แม้ขณะนี้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีอยู่ 267 เสียง เมื่อหัก 18 เสียงของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่ประกาศตัวจะโหวตแบบอิสระ ดูเป็นเรื่องๆ ไปให้กับรัฐบาล ทำให้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เหลืออยู่ 249 เสียง ซึ่งยังมีมากกว่าเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มี 208 เสียง อยู่ 41 เสียง แต่ด้วยท่าทีของกลุ่ม 16 รวมทั้ง ส.ส.ในพรรค พปชร. และ ส.ส.ของพรรคขนาดกลาง ที่ยังมีสัมพันธ์ที่ดีกับ ร.อ.ธรรมนัส หากกลุ่ม 16 มาจับมือกับ พรรค ศท. ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ตอนนี้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ 16 เสียง ก็จะมีเสียงของ ส.ส.ตัวเลขกลมๆ 32 เสียง ที่จะโหวตแบบอิสระ สร้างความปั่นปวน และสั่นคลอนเก้าอี้นายกฯของ “บิ๊กตู่” ได้อยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ หากจะสแกนกลุ่มพรรคเล็ก ในนามกลุ่ม 16 ต้องถือว่าไม่ได้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด โดยมี 7 พรรคเล็กที่มีท่าทีและจุดยืน สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” คือ

1.นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ 2.นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย 3.นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 4.น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย 5.นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่

6.นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม และ 7.นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย ส่วน นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ยืนยันว่าเลือกข้าง ร.อ.ธรรมนัส ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ ทั้งพรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง ดูจากท่าทีและสัญญาณ คงจะสนับสนุน “บิ๊กตู่”

แม้ พล.อ.ประวิตร จะเดินเกมกระชับสัมพันธ์ เคลียร์ใจพรรคเล็ก ที่อยู่ในอาการ “เคว้ง” ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจากพรรค พปชร. ด้วยการเชิญไปพูดคุยนอกรอบกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยถึงการดูแล และแนวทางการทำงานระหว่างพรรคเล็ก กับแกนนำรัฐบาลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดย “บิ๊กป้อม” ย้ำกับแกนนำพรรคเล็กว่า จะขอดูแลพรรคเล็กเอง เพราะที่ผ่านมาก็ดูแลพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลมาตลอด จากนี้จะนัดกลุ่มพรรคเล็กพูดคุยและรับประทานอาหารร่วมกันทุกเดือน เพื่อพูดคุยรับฟังเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้กับประชาชนต่อไป น่าติดตามว่า วง “ดินเนอร์” ระหว่าง กลุ่ม 3 ป. กับกลุ่มพรรคเล็กและพรรคร่วมรัฐบาล ในช่วงค่ำวันที่ 17 มีนาคมนี้ จะช่วยกระชับสัมพันธ์ ลดช่องว่างและระยะห่าง ระหว่างพรรคเล็กกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้แค่ไหน

ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป ทุกเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรคเล็ก พรรคกลาง พรรคใหญ่ ล้วนมีค่าต่อการชี้วัดการ “อยู่” หรือ “ไป” ของรัฐบาล อะไรที่คิดว่า “คอนโทรล” ได้แน่นอน

เมื่อเวลาเปลี่ยน คนก็อาจจะเปลี่ยนใจกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image