‘บิ๊กป้อม’ ลงพื้นแปดริ้ว ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก เร่งเดินหน้าโครงการรับอีอีซี

‘บิ๊กป้อม’ ลงพื้นแปดริ้ว ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก เร่งเดินหน้าโครงการรับอีอีซี และปชช.

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรากล่าวต้อนรับและนำเสนอสภาพปัญหาเชิงพื้นที่ ขณะที่ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออก กรมชลประทานนำเสนอการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและแนวทางการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) นำเสนอการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางปะกง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง พร้อมพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ วัดสมานรัตนาราม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มักประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งพบว่า ปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ไม่น่าห่วง โดยภาพรวมของปริมาณฝนปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำบางปะกง รวมกันอยู่ที่ 1,618 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง เหลือปริมาณน้ำใช้การ 701 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทราและจ.ปราจีนบุรี ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่างๆ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขให้เป็นระบบในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นทุกปี โดยมอบให้ สทนช. บูรณาการขับเคลื่อนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว มอบให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เต็มประสิทธิภาพ โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นกลไกหลัก มอบให้ กปภ. วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ และมอบให้ จ.ฉะเชิงเทรา เร่งพิจารณาเสนอแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่สำคัญให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกงปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ อ่างฯขุนด่านปราการชล อ่างฯคลองสียัด และอ่างฯนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำใช้การรวม 313 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำใช้การรวม 128 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 30%

ด้านดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงว่า สทนช. ได้วิเคราะห์กลั่นกรองแผนงาน/โครงการสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้ในปี 66-67 รวม 27 โครงการ หากหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการได้ตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 792 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,522,883 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 371,133 ครัวเรือน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแผนการผลิตน้ำ กปภ.สาขาบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา, การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแขนนาง จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 4.12 ล้าน ลบ.ม., โครงการระบบสูบกลับอ่างฯคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 6 ล้าน ลบ.ม., ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,231 ไร่, การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนท่าช้าง จ.นครนายก พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,713 ไร่ และการก่อสร้างอ่างฯบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีกลุ่มโครงการที่ต้องขับเคลื่อน 17 โครงการ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 556.80 ล้าน ลบ.ม. เช่น การก่อสร้างอ่างฯคลองวังโตนด จ.จันทบุรี, โครงการเครือข่ายอ่างฯประแสร์-อ่างฯหนองค้อ-อ่างฯบางพระ จ.ชลบุรี, การปรับปรุงขยาย กปภ. พัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา จ.ชลบุรี, การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำอ่างฯคลองพระสะทึง-อ่างฯคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา, การก่อสร้างอ่างฯคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา และการก่อสร้างระบบสูบกลับอ่างฯคลองหลวงรัชโลธร จ.ชลบุรี เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image