‘กัญจนา-วราวุธ’ นำทีม ‘ชทพ.’ หารือ TDRI ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว-เร่งผลักดันกม.

‘กัญจนา-วราวุธ’ นำทีม ‘ชทพ.’ หารือ TDRI ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว-เร่งผลักดันกม.

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชทพ. นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชทพ. พร้อมผู้บริหารของพรรคชทพ.เข้าร่วมประชุม

เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบาย ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเข้าร่วม อาทิ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ นายวิศาล บุปผเวศ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญนโยบายการค้าระหว่างประเทศ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ นโยบายเกษตรสมัยใหม่ นายกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว และนายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา

นายกรรณิการ์ กล่าวว่า ด้วยทิศทางของนานาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาบังคับใช้กับสินค้า นำเข้า-ส่งออก เช่น สหภาพ ที่ผลักดันมาตรการ CBAM หรือการควบคุมคาร์บอนฟุตปรินท์ในสินค้าที่จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จะต้องมีคาร์บอนฟุตปรินท์ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด ตรงนี้จะเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่จะบีบบังคับให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว และเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตของตน

Advertisement

ด้านนายกรรณิการ์ กล่าวว่า แรงบีบบังคับจากนอกประเทศอาจไม่เพียงพอ รัฐเองจำเป็นต้องผลักดันกฏหมายและมาตรการบางอย่างออกมารองรับ เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นรูปเป็นร่างและสัมฤทธิ์ผลได้จริง

นายวราวุธ กล่าวว่า ข้อเสนอของทาง TDRI สอดคล้องกับนโยบาย เศรษฐกิจสีเขียว ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินนโยบายอยู่ และกำลังเร่งผลักดันเพื่อพัฒนาข้อกฏหมายในหลายๆด้าน ให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การเร่งผลักดันการจัดตั้งตลาดซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อนำมาใช้ควบคุมปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และคมนาคม โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่ไปกับนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ป่า ผ่านโครงการต่าง เช่น การจัดตั้งป่าชุมชนกว่าหนึ่งหมืนแห่ง การจัดสรรที่ทำกินผ่านนโยบาย คทช. ที่ให้สิทธิทำกินแก่ประชาชนภายใต้เงื่อนไขการปลูกป่าและรักษาผืนป่าใกล้ผืนที่ดินทำกิน

Advertisement

นายวราวุธ กล่าวว่า การผลักดันข้อกฏหมายต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบและแรงต้านทานจากภาคส่วนธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น แต่อย่างไรเสีย ในท้ายที่สุด ประเทศไทยก็จำเป็นจะต้องเดินไปข้างหน้าตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่อาจหนีพ้น จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนทั้งประชาชน และเอกชน เห็นตรงกันให้ได้ว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะสร้างมูลค่า และรายได้อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่จะจ่าย

นายวราวุธ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสถานการณ์ปัจจุบันด้านการเกษตรในประเทศไทย กับ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ นโยบายเกษตรสมัยใหม่ ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรที่ลดลง ที่เกิดจากทั้งภาวะโลกร้อน และการขาดเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย มีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าตลาดด้านการเกษตรกำลังหดตัวลง ไม่สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่ในตลาดได้

นายวราวุธ กล่าวว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุม COP26 ที่ผ่านมา ตนได้เจรจากับนานาประเทศเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้ในระบบการเกษตร ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีและเงินทุนสิ่งแวดล้อมจากอังกฤษและเยอรมัน ในการเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร เช่น ที่สุพรรณบุรี มีการทำแปลงทดลองปลูกข้าวด้วยองค์ความรู้เปียกสลับแห้ง ที่ทำให้ใช้น้ำในกระบวนการปลูกน้อยลง และสร้างก๊าซมีเทนน้อยกว่าการปลูกแบบเดิมที่ชาวนาไทยทำอยู่ ผสมกับการใช้เทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นที่มีระบบ AI ประมวลผลการเติบโตของข้าว ร่วมกับข้อมูลพยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้น เพื่อค้นหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของเกษตรกร เพื่อจูงใจและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็น Young Smart Farmer ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นกลุ่มอาชีพที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเงิน การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงแผนฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติ Covid-19 ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนา และ TDRI จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความร่วมมือด้านการวิจัย และเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น เพื่อนำไปต่อยอดขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image