ศบค.ยังห้าม‘สาดน้ำ’ สู่โรคประจำถิ่นดับไม่เกิน0.1%

หมายเหตุ – นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้

ที่ประชุม ศบค.ได้เห็นชอบในการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ และการปรับมาตรการป้องกันโรคแบบบูรณาการ โดยพื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด ลดเหลือ 20 จังหวัด พื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัด เพิ่มเป็น 47 จังหวัด พื้นที่สีฟ้า นำร่องการท่องเที่ยวทั้งจังหวัด จาก 8 จังหวัด เพิ่มเป็น 10 จังหวัด จังหวัดที่เพิ่มคือ เพชรบุรี และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นที่เป็นสีฟ้าในบางพื้นที่ ยังคง 18 จังหวัดเช่นเดิม ส่วนมาตรการต่างๆ ยังคงเดิม ทุกพื้นที่ยังให้ปิดสถานบันเทิง และสถานบริการอื่นๆ ในลักษณะที่คล้ายกันอยู่เช่นเดิม แม้จะมีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการ แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ โดยขอให้ปรับพื้นที่การดำเนินการเป็นร้านอาหาร ตามมาตรการ Covid Free Setting ขอไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สีส้ม

ส่วนการนำมาตรการบริหารจัดการโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ.ได้นำเสนอแผนนี้อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้ ถ้าเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนควบคุมได้ดี ระยะที่สองคือเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นระยะคงตัว และจะลดลงในปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และวันที่ 1 กรกฎาคม น่าจะเห็นตัวเลขที่ลดลงไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่ชี้นำให้ทั้งประเทศได้ช่วยกัน กดให้ตัวเลขติดเชื้อลดลงให้ได้ นายกฯเห็นชอบ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำไปด้วย แต่ต้องดูสถานการณ์วันที่ 1 กรกฎาคม หากมีความเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็ต้องเปลี่ยนแผนด้วย

จะมีมาตรการ 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากกว่า 60% ปรับระบบการ
เฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางการแยกกักตัวผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส

Advertisement

ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนอก ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งลองโควิด

ด้านกฎหมาย และสังคม บริหารจัดการด้วยกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทาง และการรวมตัวของคนหมู่มาก ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมมาตรการ UP และ Covid Free Setting และด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกอย่างครอบคลุม

เป้าหมายที่จะต้องได้คือการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะต้องได้มากกว่า 60% ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ อัตราการฉีดยังต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงผู้สูงอายุ ยังอยู่แค่ 20-30% ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือ รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เพราะบางคนเข้าใจว่าเมื่อประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะผ่อนคลายทันที อาจทำให้ไม่ถึงจุดหมาย ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าการเป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่ใช่ในขณะนี้

Advertisement

ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น
มีรายละเอียดดังนี้ ระยะ Comdatting วันที่ 12 มีนาคม-ต้นเมษายน ระยะ Plateau เดือนเมษายน-พฤษภาคม ระยะ Declining ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และระยะ Post Pandemic
วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยที่ประชุมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารจัดการต่อไป

ส่วนแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 พบว่า ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีประมาณ 12,704,543
ล้านคน รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 10,587,376 คิดเป็นร้อยละ 83.3 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 10,213,912 โดส คิดเป็นร้อยละ 78.9 และเข็มที่ 3 จำนวน 4,125,226 โดส คิดเป็นร้อยละ 32.5 จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุ
หลายล้านที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะป่วยหนัก และเสียชีวิตได้

ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี มี 5,150,082 รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,554,763 โดส คิดเป็นร้อยละ 30.2 เข็มที่ 2 จำนวน 24,125 โดส คิดเป็นร้อยละ 0.5 ต่อไปจะเร่งเพิ่มการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก และผู้สูงอายุต่อไป

ขอให้ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ ทำความเข้าใจ และเปลี่ยนใจมารับวัคซีนเพื่อลดป่วย ลดตาย หลายประเทศที่เปิดประเทศได้ เพราะเหตุผลว่าประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจำนวนมาก เหตุผลนี้จึงทำให้สิ่งต่างๆ ที่ ศบค.เริ่มผ่อนคลายขึ้นอยู่กับปริมาณการฉีดวัคซีนด้วย

ที่ประชุมรับทราบอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ จากข้อมูลวันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ พบ
ผู้เสียชีวิต 928 ราย เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีผู้สูงอายุไม่ได้รับวัคซีน 2.17 ล้านคน เสียชีวิต 557 คน คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 257 คน/ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 0.58 ล้านคน เสียชีวิต
77 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 133 คน/ล้านคน ได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 6.25 ล้านคน เสียชีวิต
271 คน อัตราการเสียชีวิต 43 คน/ล้านคน จะพบว่าวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตลดลง 6 เท่า ได้รับวัคซีน
เข็ม 3 จำนวน 3.70 ล้านคน เสียชีวิต 23 คน อัตราเสียชีวิต 6 คน/ล้านคน พบว่าวัคซีนป้องกันการ
เสียชีวิตลดลง 41 เท่า จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้ามารับวัคซีนโดยด่วน ขอให้ลูกหลานนำข้อมูลนี้ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุให้มารับวัคซีน ต้องเร่งตัดสินใจฉีดตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่ลูกหลานจะกลับบ้าน และยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอ โดยที่ประชุมตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 70 ก่อนเทศกาลสงกรานต์

ที่ประชุมรับทราบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ลดการตรวจก่อนการเดินทาง เมื่อถึงประเทศก็ไม่ตรวจหาเชื้อ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนไทยปรับมาตรการดังนี้ ไม่ต้องตรวจก่อนเดินทาง แต่เมื่อมาถึงให้ตรวจ RT-PCR พักโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (SHA Extra Plus) ตรวจ ATK วันที่ 5 ทำประกัน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เริ่มวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการลดเงินประกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย โดยจะขอดูอีกสักพักเพื่อพิจารณาปรับอีกครั้ง

ส่วนแผนการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go, Sandbox และ Quarantine
ในวันที่ 1 เมษายน ด่านทางบก เปิด จ.สตูล ท่าเรือ เปิดท่าเรือใน จ.สุราษฎร์ธานี ประเภทเรือ เปิดให้เรือของหน่วยงานราชการในประเทศไทย และลูกเรือสัญชาติไทย บนเรือสินค้า ส่วนสนามบิน จะเปิด
สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินในจังหวัดในระยะ 5 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์ พื้นที่สีฟ้า และมีโรงแรม
ที่พัก SHA++ ได้แก่ กระบี่ สงขลา สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดีขึ้น การเปิดด่านทางบก
ให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะใช้เดือนพฤษภาคมเป็นหมุดหมายให้ทุกจังหวัด
ที่มีความพร้อม ได้เตรียมการประเมิน และอาจจะเปิดต่อไป สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท
Test & Go, Sandbox และ AQ วันที่ 1-16 มีนาคม พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าทางอากาศกว่า 200,000 รายแล้ว

สธ.เสนอมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้จัดได้ แต่ขอให้จัดแบบประเพณีดั้งเดิม คือ รดน้ำดำหัว เป็นต้น หากจัดสันทนาการต้องขออนุญาตก่อน เพราะเป็นการ
รวมกลุ่มจำนวนมาก โดยมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้

1.การเตรียมตัวก่อนร่วมงาน ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากพบว่ามีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้
เลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาล้างมือบ่อยๆ งดรับประทานอาหาร และงดดื่มแอลกอฮอล์
ผู้จัดงาน และกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ การขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯ กำหนด สำหรับการจัดกิจกรรมในชุมชน ให้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) ผู้นำชุมชน และกำหนดให้มีมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด

2.ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่มีการจัดเตรียมสถานที่ และควบคุมกำกับ อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่นการแสดงวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ
มีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่าย และบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน
กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 ต่อ 4 ตารางเมตร สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างตลอดเวลาที่ร่วมงาน ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน เป็นต้น ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม กิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ให้จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่น หรือคับแคบ สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน ผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม

3.หลังกลับจากงานสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และผู้ที่จะไปพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ตรวจ ATK ขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็นในช่วงการสังเกตอาการ พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

นายกฯขอให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายมั่นคง ร่วมกันทำงานกับสาธารณสุขอย่างเข้มงวดในช่วงของเทศกาล
ใครที่กระทำผิด ฝ่าฝืน ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) เพื่อให้มีกลไกบูรณาการของทุกฝ่าย ในการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในการเตรียมความพร้อมในการ
อยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ในระยะยาว

ดังนั้น จึงเห็นควรพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image