หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่ออนาคตรัฐบาล หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพเชิญพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลมารับประทานอาหารค่ำ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์ จนถูกมองว่าพรรคเล็กมีอำนาจต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลสูง ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญ
โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
ช่วงนี้ความเคลื่อนไหวของพรรคเล็กหากมองลักษณะพฤติกรรมแล้วจะพบว่าเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี’60 โดยมีหลักการเพื่อให้พรรคเล็กมีพื้นที่ทางการเมือง ที่สำคัญไม่ให้คะแนนตกน้ำ ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี’60 เลยกลายเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยวิ่งต่อรองเพื่อให้พรรคตนเองมีที่ยืนทางการเมือง ช่วงนี้สถานการณ์ของรัฐบาลมีความระส่ำระสายทางการเมือง จากความไม่ลงรอยทางการเมืองของกลุ่ม 3 ป. เริ่มมีความแตกร้าว จากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครั้งแรกบอกให้เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในทางกลับกัน คล้ายเป็นการข่มขู่ในเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีมากกว่า
ทำให้ความหมายของรัฐธรรมนูญปี’60 เปลี่ยนไป ทำให้พรรคเล็กมีความหมาย มีค่าขึ้นมา แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย หรือการเมืองไทยให้ดีขึ้น แต่กลับมีค่าในเรื่องการดึงพรรคเล็กมาเป็นพันธมิตรทางการเมืองเพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลไปให้ได้
พรรคเล็กอาจมีข้อต่อรองในเรื่องผลประโยชน์และยื้อเวลาในการยุบสภา รวมไปถึงสูตรการนับคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้พรรคเล็กมีโอกาสทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใช้บัตร 2 ใบ วิธีการที่นับคะแนนง่ายที่สุดคือ การแบ่งแยกการนับคะแนนแบบเขต และบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ จะส่งผลให้พรรคเล็กไม่มีที่ยืนในการเมืองไทย จึงต้องมีการยื้ออายุรัฐบาลต่อไป เพราะอย่างน้อย ส.ส.ก็ยังได้เงินเดือน และขอต่อรองเกี่ยวกับวิธีการนับคะแนนด้วยวิธีการใดก็ตามเพื่อให้พรรคเล็กได้มีโอกาสมี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ
ส่วนมุมมองพรรคเศรษฐกิจไทยได้มีการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคแล้วนั้น มองว่าเป็นเกมการเมืองของ พล.อ.ประวิตร หากมองในแนววัฒนธรรมทหารจะมีคติ ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่ครั้งนี้มองว่าทั้ง พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นนักการเมืองแล้ว ทำให้คติเปลี่ยนไป พร้อมที่จะฆ่าน้อง ฟ้องนาย และขายเพื่อน
เนื่องจากสังคมมองว่าพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคของ พล.อ.ประวิตร และตั้งขึ้นมาให้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัสเข้ามาดูแล โดย พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะร่วมมือกันในรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า พออยู่ไป พล.อ.ประวิตรบอกว่าไม่สามารถคุม ร.อ.ธรรมนัสได้ ทั้งที่ ร.อ.ธรรมนัสไปอยู่เป็นพรรคของตนเองที่ได้เตรียมการไว้แล้ว จึงมองว่า พล.อ.ประวิตรกำลังจะเหยียบเรือสองแคม มุมหนึ่งหากมองว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ก็จะสนับสนุน แต่หากมองแล้วเดินหน้าต่อไปไม่ได้ พร้อมที่จะหักหลังน้องเหมือนกัน
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้เหมือนกันว่าพี่ชายจะหักหลัง อาจจะทิ้งพรรคพลังประชารัฐแล้วไปตั้งพรรคใหม่ โดยมีทีมงานใกล้ชิดออกไปตั้งรอไว้แล้วคือรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ ไปนั่งรออยู่แล้ว จึงทำให้มองว่าพร้อมที่จะฆ่าน้อง ฟ้องนาย และขายเพื่อน
ส่วนบทบาทพรรคเล็กพรรคน้อยในอนาคตนั้นเห็นว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องยอมข้อเรียกร้องของพรรคเล็ก และหากมีการยุบสภาหลังการประชุมเอเปค มูลค่าค่าตัวของพรรคเล็กจะสูงขึ้น โดยดูจากการที่พรรคใหญ่รับประทานอาหารร่วมกัน เสียงพรรคเล็กก็ดังขึ้น ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ติด ต้องเรียกกินข้าวเคลียร์ปัญหา ทำให้พรรคเล็กมีความหมายกับรัฐบาลในห้วงเวลานี้ ราคาค่าตัวจึงมีความได้เปรียบขึ้นมาและดูดีขึ้นมา
ในเรื่องการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมองแล้วรัฐบาลทำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือ แจกกล้วยให้เพียงพอ เพื่อให้มีเสียงข้างมากในการลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อมองช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยตอบปัญหาอะไรเลย หรือตอบไม่ตรงประเด็น หากพูดในหลักการของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในเมื่อฝ่ายค้านอภิปราย ฝ่ายรัฐบาลจะต้องตอบให้ตรงประเด็นของการอภิปราย แต่ที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ตอบไม่ตรงคำถาม ทำให้คาดหวังในหลักการนี้ไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่สนใจในเรื่องการถูกอภิปราย จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะการโหวตเท่านั้น ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์การเมืองง่ายๆ
การที่ฝ่ายค้านจะเปิดการอภิปรายในอนาคตคิดว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในรัฐบาลชุดนี้ อาจจะแพ้โหวตในสภา แต่อาจได้ใจประชาชน ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงอยากให้ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล วางยุทธศาสตร์ให้ชัด อย่าช่วงชิงหรือเล่นการเมืองกันเอง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอยู่ได้นั้นเพราะฝ่ายค้านอ่อนแอ
หากมองการเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว คิดว่าหากฝ่ายค้านอภิปรายได้ดี อาทิ การเปิดโปงตั๋วช้าง การค้ามนุษย์โรฮีนจา การเปิดโปงการใช้จ่ายการซื้ออาวุธของกองทัพนำไปสู่ปัญหาความไม่ชอบมาพากล เชื่อว่าจะทำคนตั้งคำถามกับรัฐบาล หลังจากนั้นฝ่ายค้านขย่มต่อตามสื่อต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม ให้ติดกระแสไปถึงการยุบสภา จะสร้างความลำบากให้กับรัฐบาล
ซึ่งจิตวิทยาเหล่านี้จะเกิดแรงกระเพื่อมต่อพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า จะมีผลจากการอภิปรายและรัฐบาลตอบปัญหาไม่ได้ ซึ่งจะสร้างความกังวลใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่น้อยหากจะไปต่อทางการเมือง
วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
งานเลี้ยงที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า เป้าประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้รับการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาว่าความต้องการของแต่ละฝ่ายคืออะไร แน่นอนว่า “พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก” โอกาสที่จะกลับมาด้วยระบบการเลือกตั้งคราวหน้าแทบจะเป็นศูนย์ ยกเว้นแต่ถูกควบรวม หรือย้ายไปอยู่พรรคขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงมากกว่า ฉะนั้น การที่จะยืดอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับว่าสมประโยชน์แล้ว และเขาก็ไม่พร้อมที่จะยุบสภาอย่างแน่นอน
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กให้มีความชัดเจน ให้ พล.อ.ประยุทธ์และรอบๆ ตัวได้เกิดความมั่นใจในการสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
แต่ในขณะเดียวกัน จากการทานข้าวเราจะเห็นการให้สัมภาษณ์ของบรรดาหัวหน้าพรรคเล็กอย่าง นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของพรรคขนาดเล็กที่มีต่อ ร.อ.ธรรมนัส และต่อ พล.อ.ประวิตร เป็นอย่างไร คงไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตรงนั้นได้ แต่ก็ยังแสดงความพร้อม ยินดีให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะที่พูดง่ายๆ ว่ายังไม่สามารถซื้อใจได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากนายกฯไม่สามารถชี้แจงได้ก็น่าจะแสดงความเป็นเอกภาพ หรือตัดสินใจที่จะโหวตฉันทามติของพรรคเล็ก กันเองออกมา โดยที่ไม่มีใครไปสั่งการได้
พรรคเล็กได้ประโยชน์สูงสุดจากการเคลื่อนไหวกินข้าวด้วยกันรอบนี้ เพราะตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา เข้าปีที่ 4 จะเห็นว่าประชาชนรู้จักพรรคเล็กน้อยมาก ตอนนี้สปอตไลต์ทุกดวงหันไปส่องว่าใครไปร่วมทานข้าวกับนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐก็ดี ทำให้เขามีพื้นที่ข่าวสารทางการเมืองที่จะส่งออกไป ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแม้กระทั่งนักวิเคราะห์ หรือประชาชนทั่วไป เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะจำชื่อพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเล็กทั้ง 14 พรรคได้หมด นี่จึงเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ กระจายข่าวสาร แสดงบทบาทและตัวตนว่ามีใครบ้าง และทำหน้าที่อะไรบ้างในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของคุณประยุทธ์หรือไม่นั้น ณ ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรออกมาให้ความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า ร.อ.ธรรมนัสยกเว้นไว้สักคนหนึ่ง แต่ที่เหลือน่าจะ มั่นใจว่าได้เสียงสนับสนุนเพราะในข้อเท็จจริงแล้วการที่พรรคเศรษฐกิจไทยจะนำไปสู่การพูดคุย สร้างแรงกดดันเพื่อต่อรองได้นั้น อยู่ที่การเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า ที่จะชี้ถึงความสามารถและตัวตนของ ร.อ.ธรรมนัสจริงๆ ว่าในภาวะที่ไม่ได้อยู่กับ พล.อ.ประวิตรอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิมแล้ว ร.อ.ธรรมนัสออกมาต่อสู้เองตามลำพัง พรรคเศรษฐกิจไทยจะสามารถหอบหิ้ว ส.ส.กลับมาได้เท่าไหร่ ตรงนี้น่าสนใจมากกว่า แต่ผมคิดว่าเป็นการพยายามสร้างสีสัน สร้างพื้นที่ข่าว ซึ่งการเปิดตัวสมาชิกใหม่ อดีตดารา อดีตนักการเมืองที่มีประสบการณ์ อย่างนายไพร พัฒโน มาร่วมทำงานพรรค ถือเป็นการเปิดตัวที่เซอร์ไพรส์ในระดับหนึ่ง
ฝ่ายค้านต้องออกมานั่งทำการบ้านส่วนของตัวเองให้มากที่สุด ไม่ต้องไปสนใจว่ารัฐบาลจะอยู่รอด ไม่อยู่รอด ตอนนี้พรรคการเมืองอื่นๆ พยายามจะเปิดตัวคนหน้าใหม่ๆ ที่จะมาทำงาน หรือมีการย้ายพรรคแล้ว ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็เริ่มชู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นั่นเป็นสัญญาณให้เห็นว่าเตรียมความพร้อมแล้วรวบรวมศิษย์เก่า ไม่ว่าไทยรักไทย พลังประชาชน หรือใครก็ตามที่ยังเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมายิ่งใหญ่ได้ ให้เกิดความมั่นใจว่า ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยพร้อม
ตัดภาพกลับไปที่รัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่ ผมว่าหลายคนมองข้ามไปแล้ว สิ่งที่ พล.อ.ประวิตรพูดออกมาว่าจะอยู่จนหลังการประชุมเอเปคได้ตัดข้อกังวลเรื่องของการทำสงครามข่าวสารที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปไม่รอดในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนพฤษภาคม และการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ในเดือนสิงหาคมนี้ ให้มองข้ามตรงจุดนั้นไป เท่ากับลดกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา ให้ทุกคนเกิดความมั่นใจว่า อย่างไรเสีย เลยการประชุมเอเปคไปจะมีสัญญาณ มีโอกาสยุบสภา ซึ่งถึงตรงนั้นสถานการณ์คงแปรเปลี่ยนไปแล้ว จะธันวาคม 2565 หรือมีนาคมปี 2566 แทบไม่ต่างกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะประกาศยุบสภาในช่วงนั้น
เท่าที่ประเมินคิดว่ารัฐบาลมีความตั้งใจอยากจะให้ อยู่ครบเทอมเพื่อที่จะได้สร้างชุดคำอธิบายว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถอยู่ครบเทอมได้ ไม่แพ้รัฐบาลไทยรักไทย ที่นายทักษิณเป็นนายกฯช่วงปี 2544-2548 เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วที่ไม่มีรัฐบาลใดอยู่ครบเทอม
ผมคิดว่า พล.อ.ประวิตรก็ไหวตัวทัน ที่จะบอกว่าอำนาจการยุบสภาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี สิ่งที่พูดไปก่อนหน้านี้อาจจะเป็นในลักษณะสัญญาณ หรือกลอนพาไป เพื่อปลดความอึดอัด หรือข้อซักถามของสื่อมวลชนที่ว่ารัฐบาลจะไปไม่รอด
อย่างน้อยก็ปัดข้อครหาที่ว่า จะยุบสภาก่อนกำหนด
ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยพะเยา
จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมรับประทานอาหารและสานสัมพันธ์กับพรรคเล็ก คิดว่าพรรคเล็กมีโอกาสต่อรอง หมายความว่าอาจจะขอกล้วยเพิ่ม คืออยู่ในสถานการณ์ที่เขาจะได้กล้วยเพิ่ม แล้วรัฐบาลก็ต้องยอม หรือพรรคพลังประชารัฐต้องยอม เพราะตอนนี้พรรคพลังประชารัฐอ่อนแอมาก ทำให้พรรคเล็กได้เปรียบ และข่าวที่ออกมาก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการที่จะเรียกร้องกล้วย หรือตำแหน่งอื่นๆ อันนี้ยังไม่เห็น ยังไม่เป็นข่าว คงมีการติดต่อพรรคใหญ่ที่เป็นพวกงูเห่า
ส่วนตัวแปรสำคัญอย่างพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ยิ่งทำให้ไม่ว่าจะเข้ากับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่เป็นโอกาสที่เป็นการส่งสัญญาณว่าจะเรียกร้องผลตอบแทนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คล้ายกับการตีกิน ถ้าพูดภาษานักเลง วาจามันพลิกไปได้เพราะอีกหน่อยสมมุติเขาพลิกไป ก็จะมีอีกเหตุผลอื่น เพราะลูกพี่กัน เพราะ พล.อ.ประวิตร เพราะอย่างนั้นเพราะอย่างนี้ เพราะเพื่อเสถียรภาพรัฐบาล คือเหตุผลที่ให้เป็นเพียงการเกทับ ถือเป็นสาระไม่ได้
เรื่องที่จะรวบรวมเสียงพอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้หรือไม่ คือถ้าเสียงไม่พอก็ต้องออก ผิดรัฐธรรมนูญก็ต้องออก ลุยต่อไม่ได้แล้ว ส่วนจะไปในทิศทางไหนนั้นอันนี้คาดเดาลำบาก ขึ้นอยู่กับว่าตามสำนวนทางการเมืองคือมีกระสุนเพียงพอไหม คงจะวิ่งกันน่าดู รวมทั้งพรรคใหญ่ด้วยไม่ใช่เฉพาะพรรคเล็ก เพราะถ้าเกิดยุบสภาแล้วสมมุติเราได้เงินสัก 20-30 ล้าน มันคุ้มไหม มันคุ้มมาก และคนอย่างพรรคใหญ่ เลือกตั้งครั้งหน้าเขาอาจไปอยู่พรรคเล็ก ไปอยู่พรรคอื่นก็ได้ ถ้าพรรคใหญ่จะขับเขา แต่ตอนนี้เรียกว่าต้องระดมทุนกันน่าดู
เรื่องที่มีข่าวออกมาว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะมาเป็นผู้ประสานพรรคเล็ก คิดว่าข่าวที่ออกมาเชื่อไม่ค่อยได้ ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ส่วนข้างหลังจะเป็นอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง การที่เขาคุยกับนายสุชาติเพราะจะได้สื่อไปถึง พล.อ.ประวิตรได้ คือเป็นเพียงฉากหน้าหมดเลย แต่ที่สำคัญคือข้างหลัง ซึ่งเรารู้แน่ชัด
ส่วนการที่พรรคเล็กขอไม่ให้ยุบสภาเป็นคำพูดไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้อยากให้ยุบสภา แต่มีกระสุนมาสนับสนุนไหม ข้างหลังคือต้องจ่ายนะ ถึงจะช่วยให้ไม่ยุบสภา คำพูดแบบนี้เป็นเพียงการเปิดไพ่นิดๆ เหมือนการเล่นไพ่เก้าเก จะเปิดไพ่กี่ใบเพื่อที่จะเกทับกัน
อย่างไรก็ตาม ทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์ตอนนี้ต้องทุ่มเอาเสียงให้รอดให้ได้ ต้องเกกันหมดหน้าตัก คือไม่ยอมที่จะทำให้ถูกไม่ไว้วางใจได้