“บิ๊กตู่” ทุ่ม 7 หมื่นล้าน คลอด 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน คลังแถลงแพคเกจช่วยคนจนวันนี้

“บิ๊กตู่” ทุ่ม 7 หมื่นล้าน คลอด 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดผลกระทบสู้พิษน้ำมันแพง คลังแถลงแพคเกจ ช่วยคนจนวันนี้

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ว่า ครม.ได้หารือในหลายเรื่องโดยเฉพาะความเดือดร้อนและผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานผันผวน ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักถึงความลำบากของประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นกลุ่มเดือดร้อนมากที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อีกทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสุขภาพ และวันนี้มีสถานการณ์สงครามเข้ามาอีก ดังนั้น ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม บางเรื่องต้องต่อยอดของเดิม โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เป็นเวลา 3 เดือน ประกอบด้วย 10 มาตรการ

จัด 10 มาตรการช่วยประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับทั้ง 10 มาตรการประกอบด้วย 1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาทต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน 2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน 3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน 4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม 6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่าเอฟทีลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

Advertisement

7.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง 8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยเหลือไม่ให้การปรับขึ้นราคาสูงเกินไป 9.ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% และ 10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

แถลงแพคเกจช่วยคนจน 23 มี.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 23-24 มีนาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดแถลงรายละเอียดแพคเกจ มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนในภาวะราคาน้ำมันแพง โดยจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มเปราะบาง โดยจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ รวมทั้งจะมีการช่วยเหลือเกษตรกร เรื่องลดภาระวัตถุดิบในด้านอาหารสัตว์และราคาปุ๋ย ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น จะต้องรอติดตามในวันแถลงข่าว

Advertisement

นายอาคมกล่าวว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ มีคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธาน ในส่วนลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขณะนี้มีมาตรการชะลอการบังคับคดี รวมทั้งปลดล็อกเงื่อนไขการค้ำประกันหนี้ และในส่วนปัญหาหนี้อื่นๆ ได้ให้บุคลากรหลายหน่วยงานเข้าไปดูแลการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว

สั่งหน่วยราชการประหยัดพลังงาน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2565 คือตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน ประกอบด้วย 1.ให้จัดตั้งคณะทำงานลดใช้พลังงานโดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน และจัดทำแผนปฏิบัติการลดการใช้พลังงาน 2.มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที ด้านไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เช่น กำหนดเวลาเปิด-ปิด 08.30-16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25-26 องศาเซลเซียส ล้างแอร์ทุก 6 เดือน ใช้หลอดไฟ LED ลิฟต์อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่-คี่ รณรงค์การใช้บันได ส่วนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวนผู้เดินทาง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล

นายธนกรกล่าวว่า มาตรการระยะยาว ให้อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุมก่อนปีงบประมาณ 2565 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานภายในปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่การจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม ให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมาใช้กับหน่วยงานราชการ

นายธนกรกล่าวว่า การประหยัดพลังงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67,075 ตัน ในส่วนของการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลด การใช้ไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท และการดำเนินงานตามมาตรการ ESCOสำหรับหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท ทั้งนี้สำหรับ 10 มาตรการช่วยประชาชนลดผลกระทบในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จากสถานการณ์ความผันผวนของราคพลังงาน ภายใต้วงเงิน 70,000 ล้านบาท

จุรินทร์ถกแก้อาหารสัตว์แพง 23 มี.ค.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มีนาคม จะมีประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีต้นทุนอาหารสัตว์ราคาแพงใน 2 ส่วน คือ ชาวไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ราคาข้าวโพดปัจจุบันสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละกว่า 10 บาท จากเดิม 6-8 บาท ข้าวสาลีราคาสูงขึ้นมากในตลาดโลก เพราะผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือ ยูเครนที่อยู่ในภาวะสงคราม ต้องมาดูว่ามาตรการเดิมที่ช่วยชาวไร่ข้าวโพดโดยกำหนดการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน หรือ 1:3 ขณะนี้ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ เมื่อหารือเรียบร้อยจะเสนอ ครม.ดำเนินการต่อไป

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการกำกับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับที่ดี ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภคยังทรงอยู่ทั้ง 18 หมวด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ อาทิ หมูเนื้อแดงเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 151 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.50-3.60 บาท มะนาวราคาเฉลี่ยทั้งประเทศลูกละ 5 บาท เนื่องจากเข้าหน้าแล้งจะเกิดขึ้นทุกครั้ง และมาถูกพายุทำให้ลูกมะนาวร่วงออกสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นกรณีชั่วคราวเท่านั้น

ครม.เคาะแก้หนี้ม็อบเกษตรกร

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ครม.ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรที่มาชุมนุมในขณะนี้ โดย ครม.มีมติอนุมัติพักหนี้เงินต้นให้ 50% ส่วนอีก 50% ให้เกษตรกรเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในแต่ละธนาคาร จากปัจจุบันเกษตรกรประมาณ 50,000 ราย มีหนี้อยู่กับ 4 ธนาคารของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นเรื่องค้างคามากว่า 10 ปี มูลหนี้ทั้งหมด 9,282 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,813 ล้านบาท

“เกษตรกรจะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น 50% ส่วนอีก 50% ไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้ อาจยืดเวลาการชำระหนี้ หรือผ่อนชำระหนี้แต่ไม่เกิน 15 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยให้กระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงการคลังหาข้อสรุปร่วมกัน นอกจากนี้ เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะไปแจ้งให้เกษตรกรรับทราบต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image