วิพากษ์ 10 มาตรการ ช่วยประชาชนได้จริงหรือ?

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์10มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์ 10 มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

หมายเหตุ ความเห็นกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 10 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน วงเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
และอดีตกรรมการนโยบายและการกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์10มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

โดยรวมแล้ว 10 มาตรการเร่งด่วนทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากพลังงานและน้ำมันแพงเป็นหลัก ตั้งแต่มาตรการที่ 1 ถึงมาตรการที่ 8 ก็เห็นด้วย เพราะมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอื่นๆ

Advertisement

ส่วนระยะเวลาของมาตรการอาจสั้นเกิน อย่างต่ำต้อง 6 เดือน เพราะคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าสงครามยืดเยื้อ มาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้นสามารถรับมือปัญหาได้เพียงชั่วคราว ต้องเน้นไปที่มาตรการ “แก้ปัญหาเชิงระบบ” เช่น ต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า

เรื่องพลังงาน ก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง ไฟฟ้าต้องเปิดให้แข่งขันเสรี และราคาน้ำมันดีเซลถึงที่สุดแล้ว อุ้มไม่ไหวต้องปล่อยลอยตัว เพราะหากอุ้ม หรืออุดหนุนแล้วฝืน จะสร้างปัญหามากกว่า จะตามมาด้วยวิกฤตทางการคลังต่อไป

ส่วนฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรสวัสดิการคนจน จะทำให้การใช้งบประมาณตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนยากจนจำนวนหนึ่งที่ยังตกหล่นจากระบบอยู่ ซึ่งต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้ดีขึ้นต่อไป

Advertisement

ส่วนอีก 2 มาตรการ คือมาตรการที่ 9 และ 10 เป็นการลดภาระการจ่ายสมทบของผู้ประกันตนและผู้ประกอบการ รัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการในลักษณะนี้บ่อย เหมือนไปล้วงเงินอนาคตของนายจ้าง-ลูกจ้าง ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรจะสมทบสำหรับสวัสดิการในอนาคตของผู้ประกันตน อยากให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะดีกว่า และดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัว จะได้มีการจ้างงานเพิ่ม รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะดีกว่า

อย่างไรก็ดี ปัญหาพลังงานและน้ำมันแพง เป็นผลจากสงคราม ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งไทยล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่ชาวไทยต้องเผชิญอยู่เวลานี้และคงจะต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี คือ เงินเฟ้อสูง สินค้าจำเป็นราคาแพง เศรษฐกิจชะลอ หนี้สินเพิ่ม รายได้ลด และอาจถูกเลิกจ้าง ลดชั่วโมงการทำงาน

ดังนั้น มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ จะต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดทางการคลัง และมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สงครามยังไม่ยุติ ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็จะอยู่ไปอีกนาน ฉะนั้น รัฐบาลไทยต้องร่วมกับประชาคมโลกยุติสงครามครั้งนี้โดยเร็ว

รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญในการตัดงบซื้ออาวุธ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือหยุดการรั่วไหลและการคอร์รัปชั่นในระบบงบประมาณของรัฐให้ได้ ซึ่งแต่ละปีก็เป็นระดับแสนล้านแล้ว

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์10มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

ความจริงแล้วไม่ได้มี 10 มาตรการตามที่รัฐบาลบอก เพราะอย่างน้อย 2 มาตรการ จาก 10 มาตรการเป็นการสารภาพกับประชาชนว่าไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซล กับราคาก๊าซหุงต้มตามสัญญาต่อไปได้อีกแล้ว จากเดิมบอกว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 แต่ตอนนี้มายอมรับว่าตรึงได้ถึงแต่เมษายนเท่านั้น ส่วนก๊าซหุงต้มก็ทยอยปรับขึ้นราคาเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อดูมาตรการต่างๆ ที่ออกมาล่าสุด สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรก การช่วยค่าก๊าซหุงต้มให้ครัวเรือน และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมกันไม่เกิน 4 ล้านคน ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก และเข้าใจว่าทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำลังจะของบกลาง 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้คือการต่อยอดและต่ออายุมาตรการที่เคยมีมาอยู่แล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. ในการช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม ที่หมดอายุไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ที่สำคัญคือ การใช้ฐานข้อมูลจากผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการใช้ฐานข้อมูลเดิมจากผู้ที่ลงทะเบียนเมื่อปี 2560 ทั้งที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดคนจนหน้าใหม่มากมาย และคนที่อาจจะเคยจนในปีนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่จนแล้วก็ได้ ดังนั้น การยังใช้ฐานข้อมูลเดิมเพื่อใช้ในมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเช่นนี้ ก็คงไม่เวิร์ก จึงต้องสำรวจใหม่อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่สองคือ ในส่วนของราคาน้ำมัน นอกจากจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลถึงแค่สิ้นเดือนเมษายนแล้ว ก็ไม่ได้บอกว่าเมื่อเลิกตรึงแล้วจะปล่อยราคาน้ำมันให้ลอยตัวทันทีหรือไม่ หรือว่าทยอยปรับราคาขึ้นอย่างไร บอกแค่ว่าหลังจากนี้ไปเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ รัฐจะช่วยแค่ครึ่งหนึ่ง และไม่ได้บอกว่าจากราคา 30 บาทต่อลิตร จะกลายเป็น 40 บาทต่อลิตรเลยหรือไม่

นอกจากนี้ รัฐยังไม่ช่วยตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ออกมาตรการมาเพียงช่วยค่าน้ำมันให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 250 บาทต่อเดือน จำนวน 157,000 รายเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งคือการช่วยเหลือค่าขนส่ง คือ ค่า LPG และค่า NGV ซึ่งก็เป็นการต่อยอดโครงการของ ปตท. ที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะช่วยตรึงราคาถึงเดือนมิถุนายน 2565 รัฐบาลทำเพียงต่อไปอีก 1 เดือน คือถึงเดือนกรกฎาคม ส่วนการลดค่าเอฟทีของค่าไฟฟ้าลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าลองคำนวณว่าใช้ 300 หน่วย ก็จะลดไปประมาณ 70-80 บาทต่อบ้าน คือแทบจะไม่ได้อะไรเลย

และกลุ่มที่สามคือ ส่วนการลดเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งก็ใช้มาหลายรอบแล้ว และแต่ละรอบก็ใช้งบประมาณเยอะ เข้าใจว่าที่ต้องใช้งบกว่า 7 หมื่นล้านบาทนี้ มาจากมาตรการนี้ แต่ถามว่ารัฐบาลได้ควักกระเป๋าของตัวเองหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา 2 ปี รัฐบาลบอกให้ลดเงินสมทบ โดยที่ตัวเองไม่ได้สมทบแทนนายจ้างและลูกจ้าง เท่ากับว่าเงินของกองทุนประกันสังคมจะพร่องไป ทั้งนี้ สถานะการเงินของทางกองทุนถือว่าง่อนแง่นเต็มทีแล้ว หลายสำนักวิจัยได้ออกมาวิเคราะห์ว่า ใกล้เจ๊งเต็มที และไม่มีเงินพอจ่ายเป็นบำนาญให้กับผู้ประกันตนที่จะเกษียณ แต่รัฐบาลก็ยังจะลดเงินสมทบอีก โดยที่ตัวเองไม่ยอมสมทบเงินแทนแบบนี้อีกเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยเรื่องค่าครองชีพ และลดเงินสมทบกองทุน รัฐบาลต้องควักเงินตัวเองด้วย

ทั้งนี้ ต้องรอฟังรายละเอียดการแถลงจากกระทรวงการคลัง ที่ไม่รู้ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ 10 มาตรการที่รัฐบาลออกมาก็ถือว่าน่าผิดหวังมาก เพราะไม่ได้ช่วยอะไรเลย รัฐบาลออกมาตรการที่บอกว่าเร่งด่วน แต่ทั้งหมดเริ่มใช้จริงในเดือนพฤษภาคม

ในขณะที่ค่าก๊าซหุงต้มจะเริ่มลอยตัวในเดือนเมษายน ทำให้ประชาชนต้องรับภาระไปเองเต็มๆ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์10มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

ขณะนี้ถือว่ามีความจำเป็นในการออกมาตรการมาเพื่อช่วยผ่อนปรนภาระของภาคประชาชนและภาคเอกชน เนื่องจากสินค้าที่ปรับราคาขึ้นมาสูงๆ แต่ละรายการในระยะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นราคาที่ปรับขึ้นมาจากต้นทาง ทำให้เราไม่สามารถควบคุมราคา หรือปรับให้ลดลงได้ อาทิ พลังงาน ปุ๋ย บรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงวัตถุดิบ หรือสินค้าที่ปรับราคาขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากมีวัตถุดิบและสินค้าหลายรายการที่อาจปรับขึ้นจนควบคุมได้ยาก อาทิ ข้าวสาลี ข้างโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และสุดท้ายก็จะวนมากระทบกับประเทศไทยด้วย

เมื่อความชัดเจน ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการคว่ำบาตรของรัสเซียและยูเครน รวมถึงประเทศใหญ่ๆ ยังไม่จบ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน แม้ความจริงแล้วจะเป็นมาตรการระยะสั้นๆ ก็ตาม เนื่องจากภาวะในขณะนั้นเราต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น แต่รายได้ยังอยู่เท่าเดิม ทำให้การดูแลตั้งแต่ต้นทางถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะราคาพลังงานราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องเผชิญทั้งโลก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด รัฐบาลจึงทำได้เพียงต้องผ่อนเบาให้ แม้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนในขั้นตอนต่อไป หากสถานการณ์เลวร้ายลง โดยมองไปยังภาพจำลองที่แย่กว่านี้คือ หากสินค้าและวัตถุดิบแพงขึ้นกว่านี้ เราต้องเตรียมรับมือว่า จะสามารถผ่อนเบาได้มากกว่านี้หรือไม่ อาทิ ความกังวลในเรื่องดุลการค้าที่เราไม่อยากเกินดุลมากเกินไป ทำให้มีเงื่อนไขต่างๆ ออกมา

แต่ขณะนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณของหลายประเทศ ที่ระงับการส่งออกวัตถุดิบไปขายต่างประเทศ เนื่องจากกังวลความมั่นคงทางอาหาร อาทิ อาร์เจนตินา ระงับการส่งออกถั่วเหลือง ที่เชื่อว่าจะมีผลกระทบแน่นอน รวมถึงประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบและอาหาร พยายามไม่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่เน้นใช้ของในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในตอนนี้เห็นการลดการ์ดที่ตั้งไว้ว่าจะพยายามนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น อาทิ อินเดีย ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 ในการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน ซาอุดีอาระเบียก็พยายามเปิดประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงทางอาหาร

หากประเทศไทยกังวลว่าสินค้าบริโภคในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ และสร้างภาระสูงเกินความจำเป็นต่อประชาชน รัฐบาลก็จำเป็นต้องลดการ์ดลง และยอมให้นำเข้าสินค้า หรือวัตถุดิบต่างๆ เข้ามา อาทิ การลดภาษี หรือยกเว้นภาษีลง เพื่อลดภาระของประชาชนไม่ให้สูงมากกว่านี้

โดยสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือการมีเงินแต่ก็ยังซื้อไม่ได้ แม้มองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็มีความกังวลมาก โดยหากประเมินมาตรการที่รัฐบาลออกมานั้น ถือว่าตอบโจทย์แล้ว

โดยเฉพาะมาตรการด้านประกันสังคม เพราะมองว่าอะไรที่มาจากภาครัฐ ภาครัฐก็ควรต้องประคับประคองให้ก่อน รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า ที่มองว่าได้อานิสงส์เชิงบวกกันทั้งภาคเอกชนและประชาชน ที่ภาระและต้นทุนลดลง

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการและผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์10มาตรการ ช่วยปชช.ได้จริงหรือ?

10มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล เป็นเพียงภาพเล็ก จากภาพใหญ่ทั้งหมดที่ต้องมองในการแก้ปัญหาของแพง-รายได้ทรุด ปัญหาเงินเฟ้อ-รายได้ฝืด โดยภาวะของแพงของไทยนั้น คือ Cost-push inflation นั่นหมายถึงต้นทุนราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตปรับตัวขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้นทุนสูงขึ้น ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ส่งผลทำให้สินค้าแพงขึ้น

ขอเสนอแผนบันได 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 ตรึงราคาสินค้าผ่านการสนับสนุนค่าจ้างไปที่นายจ้าง ขั้นที่ 2 สนับสนุนลดค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

และขั้นที่ 3 เร่งสร้างรายได้ให้กับประชาชน กระตุ้นการจ้างงาน

โดยสรุปการแก้ปัญหาของแพง-รายได้ทรุด ปัญหาเงินเฟ้อ-รายได้ฝืด ต้องมองสาเหตุให้ชัด และต้องมองให้ครบ ไม่ใช่แค่ 10 มาตรการของรัฐบาล ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไม่ให้ราคาน้ำมันส่งผ่านไปที่ราคาสินค้า ระหว่างทางต้องลดค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่หว่านแหแต่ต้องครอบคลุม และปลายทางที่สำคัญที่สุด การสร้างงานให้รายได้เพียงพอสู้ค่าครองชีพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image