‘จาตุรนต์’ วิจารณ์ ’10 มาตรการ’ รัฐช่วยค่าครองชีพ ชี้รัฐบาลยังไม่เข้าใจความหนักหนาสาหัสของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการช่วยลดค่าครองชีพ 10 มาตรการที่รัฐบาลกำลังจะนำออกมาใช้ในช่วง 2-3 เดือนต่อไปนี้ ครอบคลุมเพียงส่วนน้อยของปัญหาซึ่งมีหลายด้านมาก มาตรการเหล่านี้ใช้วงเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา จึงจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแผนการ หรือมาตรการที่มีลักษณะครอบคลุมปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจให้เห็นเลย รัฐมนตรีที่ดูแลมาตรการเหล่านี้ก็วาดภาพสวยหรูว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 3 เดือน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงสูงที่สถานการณ์จะยืดเยื้อ ทำให้น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลอาจจะยังไม่เข้าใจความหนักหน่วงของปัญหา และไม่เข้าใจลักษณะพิเศษของปัญหาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งต้องการมาตรการที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐบาลแจงคลอด10 มาตรการด่วนแก้เศรษฐกิจ นายกฯโอดงบน้อย แต่เจอสองเด้ง วิกฤตซ้อนวิกฤต
- ด่วน! ครม.เคาะแล้ว 10 มาตรการช่วย ปชช. เริ่ม พ.ค.-ก.ค.นี้
นายจาตุรนต์กล่าวว่า 10 มาตรการช่วยค่าครองชีพที่ออกมาครั้งนี้ หลักใหญ่ๆ อยู่ที่การช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชน เช่น ค่าแก๊สและค่าไฟฟ้า กับเป็นการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้มีอาชีพให้บริการ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแทกซี่ เป็นต้น ข้อจำกัดของมาตรการเหล่านี้คือครอบคลุมคนจำนวนน้อยและใช้งบประมาณที่จำกัดมาก ส่วนที่ต้องใช้จากกองทุนน้ำมันกองทุนนี้ก็ติดลบหมดแล้ว จึงมีปัญหาว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปรัฐบาลจะไฟแนนซ์มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ หากไม่มีการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า การลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาจริง หากเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้ประกันตนที่จะต้องเสียโอกาสในการสะสมเงินสมทบที่จะต้องมีไว้สำหรับอนาคต เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ออกเงินสมทบแทนให้
“สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังส่งผลกระทบเสียหายที่ใหญ่หลวงมาก มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตลดลงถึงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างมาก มาตรการที่มีวงเงินอยู่ที่ 70,000 ล้านบาทนี้จึงเป็นมาตรการที่จะช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนได้น้อยมาก หากพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องเตรียมหางบประมาณจากแหล่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว นอกจากนี้ การดูแลเฉพาะปัญหาค่าครองชีพอย่างเดียวย่อมไม่อาจรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในหลายด้านได้” นายจาตุรนต์กล่าว
นายจาตุรนต์กล่าวว่า สงครามรัสเซียและยูเครนเข้าเดือนที่ 2 แล้ว การออกมาตรการเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางด้านอย่างที่ทำอยู่ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เข้าใจความหนักหนาสาหัส และความสลับซับซ้อนของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เลย