หน้า 3 วิเคราะห์ : ศึกชิง‘ผู้ว่าฯกทม.’ อิสระ-สังกัดพรรค ชี้วัดการเมืองใหญ่

หน้า 3 วิเคราะห์ : ศึกชิง‘ผู้ว่าฯกทม.’ อิสระ-สังกัดพรรค ชี้วัดการเมืองใหญ่

ศึกชิง‘ผู้ว่าฯกทม.’

อิสระ-สังกัดพรรค

ชี้วัดการเมืองใหญ่

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ หลังจากห่างหายจากการเลือกตั้งมาเกือบ 9 ปีเต็ม

Advertisement

นับจากที่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เฉือนชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) คว้าตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.” คนที่ 15 ก่อนจะถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559

ให้พ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็นผู้ว่าฯกทม. ปฏิบัติหน้าที่มายาวนาน 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

พร้อมประกาศสู้ศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.อีกครั้ง ในนามอิสระ ภายใต้ “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” เพื่ออาสามาทำงานต่อในสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ พร้อมกับประกาศความมั่นใจว่า “จะกลับมาใหม่”

Advertisement

นับถึงวันนี้ ทั้งที่เปิดชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ รวมทั้งที่กำลังจะเสนอตัวลงมาชิงชัยเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” ไล่เรียงได้ 8 คน คือ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

2.น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ 3.นายประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์ 4.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 5.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

6.นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ 7.น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย และ 8.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ ซึ่งยังไม่แน่จนถึงวันรับสมัคร ระหว่างวันที่ 31 มีนาคมถึง 4 เมษายน

จะมีผู้ท้าชิงท่านอื่นเปิดตัวมาร่วมชิงชัยเพิ่มอีกหรือไม่

ไล่เรียงดูจาก “ชื่อชั้น” และ “โปรไฟล์” ของผู้สมัครทั้งหมด ย่อมมีจุดเด่น จุดด้อย ตามบทบาทและประสบการณ์ที่แต่ละคน เคยแสดงออกให้สังคมได้รับรู้

ด้วยชื่อเสียงของผู้สมัครที่แต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ผู้สมัครแต่ละคนสามารถนำเสนอได้อย่างเท่าเทียมกัน ตราบเท่าที่มีเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง

นั่นคือ “นโยบาย” และ “จุดยืน” ที่ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องมานำเสนอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและคนกรุงเทพฯ เป็นผู้ตัดสิน หากจะเปรียบตัว “นโยบาย” กับ “ตัวสินค้า” ของแต่ละแบรนด์

แน่นอนเจ้าของแบรนด์ ต้องชูจุดดี จุดเด่น ลบจุดด้อยว่า สินค้าของแต่ละแบรนด์ ดีกว่าคู่แข่งอย่างไร ไม่ว่าจะขายฝัน หรือ ทำได้จริง ก็ต้องมานำเสนอกันอย่างเปิดเผย

ผู้สมัครแต่ละคน ก็ล้วนชูนโยบายเพื่อแก้ปัญหาซ้ำซาก และเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งเรื่องการจราจร การศึกษา การแก้ปัญหาสังคม และอีกหลายเรื่อง

ตามที่ผู้สมัครแต่ละคนจะกำหนดเป็นนโยบาย ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม.ได้มีเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ ก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง

ส่วนความได้เปรียบ เสียเปรียบ ในการแข่งขัน แน่นอนผู้สมัครที่เปิดชื่อ เตรียมพร้อมลงสนามแข่งขันก่อนคนอื่น อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจจะได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น

ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับทราบถึงความตั้งใจจริง และทำการบ้านเตรียมความพร้อมได้มากกว่าผู้สมัครคนอื่น แต่อาจจะไม่เสมอไป เพราะผู้สมัครคนอื่น คงได้ทำการบ้าน

เตรียมความพร้อมเพื่อลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ รอจังหวะ เวลา ที่เหมาะสม ในการเปิดหน้า โชว์ตัว ต่อประชาชน

ตัวเลือกผู้สมัคร ชิงผู้ว่าฯกทม. ที่หลากหลาย มากมายความสามารถของแต่ละคน ถือเป็นเรื่องดีที่ชาวกรุงเทพฯจะได้มีหลายทางเลือกว่าจะเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” ในสเปกแบบไหน มาบริหารกรุงเทพฯ และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาว กทม.ในทุกมิติ ตลอดวาระ 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง

ขณะที่ความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง ระหว่างผู้สมัครในแบบอิสระ กับสังกัดพรรคการเมือง หากวิเคราะห์กันตามฐานเสียงของผู้ที่ชื่นชอบในทางการเมือง

คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าฐานเสียงของพรรคไหน จะเลือกผู้สมัครคนใด แต่การเลือกตั้งในสนาม กทม. นักวิเคราะห์การเมืองมักมองว่าเป็นสนามปราบเซียน

นอกจากฐานเสียงไม่ว่าจะเป็นของพรรค หรือคะแนนนิยมของผู้สมัครแต่ละคนแล้ว ยังมีกระแสในทางการเมืองระหว่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

ที่จะตัวเป็นแปรสำคัญชี้ขาด ผล “แพ้” และ “ชนะ” ได้เหมือนกัน เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อปี 2556 ที่มีการโหมวลีการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายว่า

“ถ้าไม่เลือกเรา เขามาแน่” มาแล้ว แม้การเมืองในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมาก ทั้งช่องทางการสื่อ และจุดยืนในทางการเมืองของผู้สมัครแต่ละคน

ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ออกมาในทิศทางใด จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้ง

แต่ผล “แพ้-ชนะ” ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะเป็นตัวสะท้อน และชี้วัดการเมืองสนามใหญ่ โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งในปี 2566

ที่แต่ละพรรคต่างรอคอยผลการเลือกตั้งสนาม กทม. ต่อการกำหนดอนาคตในทางการเมืองว่าจะเลือกเส้นทางเดินอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image