‘วิโรจน์’ เปิด 12 นโยบาย ชูเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ-เด็ก เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯกทม.ต้องไร้คอร์รัปชั่น

‘วิโรจน์’ เปิด 12 นโยบาย ชูเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ-เด็ก เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯกทม.ต้องไร้คอร์รัปชั่น-ลดค่าครองชีพ-เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ ลั่น 22 พ.ค.นี้ ออกไปกาให้คนเท่ากัน ไม่ให้ใครมาขโมยความฝันของ ปชช.ได้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 มีนาคม ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 มีการจัดงาน “เปิด 12 นโยบายกรุงเทพ สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” โดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ในนามพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

ต่อมาเวลา 14.50 น. นายวิโรจน์กล่าวว่า ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าปัญหาเมื่อ 10 ปีกับตอนนี้ไม่ได้ต่างกัน ซึ่งสะท้อนว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร ทั้งนี้ ได้มีโอกาสขึ้นไปดีเบตกับผู้สมัครหลายคน และหลายคนก็พูดถึงการแก้ปัญหากรุงเทพฯ เพียงสั้นๆ โดยเมื่อสาวเท้าเข้าไปจะพบว่าปัญหาที่แท้จริงคือ นายทุน เกือบศตวรรษแล้วที่เราเอาส่วยไปประเคนให้นายทุน ซึ่งการบริหารเมืองภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ สุดท้ายก็จบที่ขออาสาสมัคร ขอให้ประชาชนเสียสละ และคนกรุงเทพฯ ก็จะเหลือแค่เนื้อข้างแคร่ จึงทำให้ต้องมี 12 นโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เท่ากัน ได้แก่

1.สวัสดิการคนเมืองเพื่อโอบอุ้มเด็ก คนชรา และผู้พิการ คือการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากเดิมที่ได้ 600-1,000 บาทต่อเดือน ให้ได้รับสวัสดิการ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่ากัน และเพิ่มสวัสดิการคนพิการจากเดิมที่ได้ 800-1,200 บาทต่อเดือน จะเพิ่มให้คนพิการได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือนทุกคน รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็ก 0-6 ปี จากเดิมที่ได้ 600 บาท เฉพาะเด็กที่ยากจน แต่เราจะเพิ่มให้เด็กทุกคนได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือนทุกคนในกรุงเทพฯ ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การช่วยเหลือแต่เป็นรัฐสวัสดิการ

2.วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน โดยจะทำให้การเข้าถึงวัคซีนโรคทุกชนิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ ตั้งเป้ายกระดับศูนย์สาธารณสุขชุมชนของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฟรีเพื่อให้ทุกชุมชนสามารถเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้วัคซีนที่คนกรุงเทพฯ ต้องเข้าถึงฟรี ได้แก่ วัคซีนโรคปอดอักเสบ วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคไข้เลือดออก 3.หยุดระบบอุปถัมภ์ด้วยงบที่คนกรุงเทพฯ เลือกเองได้ โดยจะนำงบประมาณของ กทม.ประมาณ 5% หรือ 4 พันล้านบาท โดยกระจายสู่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและชุมชนตัดสินใจว่าจะใช้อย่างไร

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า 4.การตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต ตลอดอายุเวลา 4 ปี โดยจะลงทุนสร้างและบริหารที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3,500-9,000 บาทต่อเดือน และให้เช่าระยะยาวซึ่งต้องอยู่ใจกลางเมืองที่ระบบขนส่งคมนาคมเข้าถึง 5.ลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว โดยตั้งเป้าสนับสนุนการให้บริหารขนส่งสาธารณะเพื่อลดค่าครองชีพของคน กทม. ในทุกรูปแบบของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือโดยสาร และรถไฟฟ้า

6.ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่และนำเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน ปรับปรุงจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพฯ เก็บค่าจัดการขยะจากนายทุนตามจริง โดยนายทุนต้องจ่ายค่าจัดการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เราไม่ต้องนำภาษีของประชาชนไปอุ้มนายทุน รวมถึงมีแอพพลิเคชั่นเรียกรถซาเล้งรับซื้อของเก่าให้มารับซื้อขยะรีไซเคิลที่หน้าบ้านในเวลาที่ประชาชนสะดวก

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า 7.ลงทุนพัฒนาศูนย์เด็กเล็กศูนย์ละ 5 ล้านบาทในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งครูและพี่เลี้ยงต้องได้สัญญาจ้างงานประจำ มีครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า คอยให้คำแนะนำทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาการเด็ก และเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 8.สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามฝันชองตนเองได้ โดยเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยตัดวิชาที่ไม่จำเป็นออกและเพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียน พัฒนาศูนย์เรียนรู้หรือห้องสมุดศูนย์ดูแลเด็ก เพื่อให้เด็กมีที่เรียนรู้หลังเลิกเรียนและพัฒนาสวัสดิภาพเด็กโรงเรียน กทม. 9.การลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง จบปัญหาน้ำรอระบาย โดยการขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง แยกระบบท่อน้ำฝนและท่อน้ำเสียเพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

10.เปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ ด้วยการร่วมมือกับเจ้าของที่ดินเอกชน เพื่อนำที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้กับประชาชนและเปิดพื้นที่สาธารณะของ กทม.ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม 11.ทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ โดยการออกแบบทางเท้าใหม่ให้สวยงามคงทนและเป็นทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผงลอย แต่ กทม.จะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขาย พร้อมทั้งมีการทาสีตีเส้นทางม้าลายให้ชัด ทำเส้นชะลอความเร็วและการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้ามถนนในจุดที่จำเป็นทันที ทำให้ทางม้าลายปลอดภัย และ 12.นโยบายเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯกทม. โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น โดยนำกรุงเทพฯเข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐ เปิดเผยสร้างช่องทางแจ้งปัญหา ร้องเรียนต่อผู้ว่าฯกทม.โดยตรงและทำตามกฎหมายเพื่อป้องกันข้าราชการเตะถ่วงการขออนุญาตและเรียกร้องรับผลประโยชน์จากประชาชน

“นี่เป็นการสร้างเมืองแห่งความหวังของทุกคน เป็นเมืองที่เราอยู่แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย เป็นเมืองที่ให้เราเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ถูกปกครอง เป็นเมืองที่ให้โอกาสเราสร้างตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี เชื่อว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ คนกรุงเทพฯต้องการผู้ว่าฯที่ยืนอยู่ข้างประชาชน ไม่ใช่การอ้างตัวเป็นกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่กลาง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยให้ประชาชนถูกย่ำยีโดยไม่คิดจะแยแสอะไรเลย ทั้งที่อำนาจของคุณมาจากประชาชน ซึ่งวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ 8 ปีก่อนเป็นวันที่อำนาจของประชาชนถูกปล้นไป เป็นจุดเริ่มต้นของความสิ้นหวัง เป็นจุดเริ่มต้นของการเสียเวลาชีวิต เสียโอกาสอย่างมหาศาลของทั้งคนกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ และวันที่ 22 พฤษภาคม ที่กำลังจะถึง ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่คนกรุงเทพฯ จะเป็นโดมิโนตัวแรกที่ประกาศฉันทามติใหม่ร่วมกันว่า ไม่มีมันผู้ใดมาขโมยความฝันของประชาชนไปได้อีก ให้ผมและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของพรรคก้าวไกลทั้ง 50 เขตไปขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 12 นโยบาย คืนเมืองที่คนกรุงเทพฯ เท่ากันให้คนกรุงเทพฯ ทุกคน และวันที่ 22 พฤษภาคม เลือกวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ ออกไปกาให้คนเท่ากัน” นายวิโรจน์กล่าว

โดยภายหลังเปิดนโยบายเสร็จนายวิโรจน์ได้ถ่ายรูปร่วมกับผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค ก.ก.ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image