ปัดฝุ่น ‘ครัวครม.’ อิ่มอร่อยยุคลุงตู่-นิวนอร์มอล

ปัดฝุ่น ‘ครัวครม.’ อิ่มอร่อยยุคลุงตู่-นิวนอร์มอล

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีดำริให้ฟื้นประเพณีการรับประทานอาหารร่วมกันหลังการประชุม ครม. (ครัว ครม.) เหมือนที่เคยปฏิบัติมาก่อนขึ้นมาอีกครั้ง

ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกหลังหยุดการปฏิบัติมานานกว่า 2 ปี โดยมีเมนูฟื้นครัว ครม.ในครั้งนี้ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำตำลึง ข้าวหน้าไก่ ผัดไทยไร้เส้น ข้าวแกงเขียวหวานไข่พะโล้ ขนมจีนซาวน้ำ แกงหมูพริกสด ไอศกรีมกะทิและเต้าทึง

สำหรับความเป็นมาของประเพณีครัว ครม.นั้น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เขียนหนังสือ “ครัว ครม.” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน วางจำหน่ายเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2546 ความยาว 206 หน้า สี่สีทั้งเล่ม ที่นำเสนอเมนูเด็ดที่รัฐมนตรีแต่ละท่านหมุนเวียนกันนำมาให้ที่ประชุม ครม.ได้ร่วมลิ้มชิมรสกันถึง 30 เมนู จะรู้เรื่องเกร็ดและรายละเอียดของครัว ครม.เป็นอย่างดี

โดย อ.วิษณุเล่าว่า บรรยากาศการรับประทานอาหารร่วมกันใน ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เทียบกับบรรยากาศในอดีตต่างกันหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าบรรยากาศไม่เหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะยังต้องคงมาตรการเว้นระยะห่างกันอยู่ จากเดิมที่ปกติมานั่งทานข้าวด้วยกันเพื่อที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรที่เถียงกันในห้องประชุม ครม.ไม่เสร็จ ก็มาเถียงกันต่อที่นี่ แต่พอมีโควิด-19 ต้องเว้นระยะห่าง นั่งโต๊ะหนึ่งได้ไม่กี่คนจะชะโงกหน้าเถียงกันมันก็ดังเกินไปก็เลยต่างคนต่างกิน กินเสร็จก็รีบใส่หน้ากากอนามัยและลุกขึ้นเดิน นั่งดูอยู่ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 15 นาที

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการเสิร์ฟอาหารในห้องประชุม ครม. จะประชุมไปกินไป จะเป็นแบบเวิร์กกิ้งลันช์ พอเปลี่ยนมานั่งกินในห้องร่วมกันก็เปลี่ยนมาเสิร์ฟโดยไม่มีแฟ้มงานอยู่บนโต๊ะ แบบนี้ก็สะดวกดีกินไปพูดไปเคี้ยวไปหรือบางคนเปิดไมค์และเคี้ยวไปด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องอีกสักระยะหนึ่งถึงจะได้บรรยากาศครัว ครม.แบบเดิมกลับมา

อ.วิษณุเล่าต่อด้วยว่า การมานั่งรับประทานอาหารด้วยกัน ต้องการเวลาและต้องการความสนิทสนมคุ้นเคย อย่างรัฐมนตรีหลายคนนั้นไม่ได้มีโอกาสพบนายกรัฐมนตรีในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 จะได้พบก็ในวันประชุม ครม. ในวันประชุม ครม.เป็นวันมหาสมาคมคนเยอะ ทั้งนี้ หลายคนหลายพรรคก็อยากกินข้าวร่วมกัน เพื่อได้คุยในบรรยากาศผ่อนคลาย ไม่ใช่นั่งประชุมที่โต๊ะเปิดไมค์พูดได้ยินกันทั้งห้องบางคนก็อยากกระซิบกระซาบกัน แต่ขณะนี้ยังต้องเว้นระยะห่างอยู่

ส่วนที่มีคำถามว่าอาหารกับการเมืองมันเข้ากันหรือไม่นั้น รองนายกฯในฐานะผู้เขียนหนังสือครัว ครม.อธิบายว่า กองทัพเดินด้วยท้อง ฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่พูดกันไปประชุมกันไปเถียงกันไปนานๆ เข้ามันก็หิว เมื่อหิวแล้วก็จำเป็นต้องหยุดพักรับประทานอาหารแล้วจะได้จอยอะไรบ้าง อย่างสุภาษิตจีนที่ว่า “เราไม่ได้กินสุรา เพราะรสชาติสุรามันดี แต่เพราะว่ากินกับใครดื่มกับใคร”

Advertisement

เมื่อย้อนไปสมัยก่อนที่มีครัว ครม.เกิดขึ้น ก็จะมีการรับประทานอาหารกันไม่ว่าจะประชุมเสร็จกี่โมง จะไม่มีการเสิร์ฟในห้องประชุมจะมีเพียงของว่างและเครื่องดื่ม ในระยะแรกของการเริ่มรับประทานอาหารร่วมกันในอดีตจะนั่งรับประทานอาหารกันเป็นพรรคๆ ต่อมาจึงมีการละลายพฤติกรรมให้มากินรวมกันเพื่อปรึกษาราชการการ เคยเกิดช่วงที่บังคับที่นั่งและเวียนกัน ไม่อย่างนั้นทุกคนจะอยากนั่งใกล้นายกฯ แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง

นายกฯก็ไม่ได้ให้กำหนดที่นั่ง เนื่องจากละลายพฤติกรรมได้แล้วก็ให้นั่งรับประทานกันตามอัธยาศัย แล้วกลายเป็นโต๊ะของนายกฯเองที่กลับกลายเป็นไม่มีคนอยากไปนั่ง ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาปี 2557-2559 ไม่มีคนไปนั่งโต๊ะท่าน มีแต่พวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์เองก็อยากจะนั่งคุยกันเองในบางเรื่อง ทางซ้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ทางขวา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สำหรับการเลือกสรรเมนูอาหารมาในครัว ครม.นั้น อ.วิษณุบอกว่า เราถือหลักว่าเอารสชาติอร่อยราคาถูก ไม่ใช่ว่าเอาหูฉลาม หอยเป๋าฮื้อมา ในระยะแรก สมัยอดีตนายชวน หลีกภัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายบรรหาร ศิลปอาชา จะเป็นอาหารจานเดียวและจะจัดใส่ถาดให้เลือกว่าเอาจานไหน ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป
การแสวงหาว่าต้องหาร้านที่เข้าสูตรคือ อร่อย ราคาถูก สะอาด เพราะงบประมาณไม่เยอะ แล้วบางทีรัฐมนตรีจะเป็นคนแนะนำ ขณะเดียวกันเราก็อยากจะส่งเสริมร้านเล็กๆ ไม่ต้องการจะสั่งจากภัตตาคารหรือครัวใหญ่ๆ เพียงเท่านั้น

ในสมัยนายชวน เป็นนายกฯ เรารู้มาว่าชอบทานอาหารปักษ์ใต้ ก็เริ่มมีอาหารปักษ์ใต้มาตั้งตรงกลาง แต่ละคนก็มีอาหารจานเดียวใครอยากจะตักเพิ่มก็ได้ สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปลี่ยนแปลงใช้วิธีให้กระทรวงเป็นเจ้าภาพเวียนกันไป บางทีก็มีข้าราชการในกระทรวงมาปรุงอาหารเอง ทำให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรี พอเปลี่ยนจากสมัย พล.อ.ชวลิต ก็กลับมาเป็นอย่างเดิม แต่เริ่มมีเมนูหลายอย่างให้เลือกและเริ่มยอมให้มีการเข้ามาปรุงอาหารและนำอาหารจากต่างจังหวัดส่งมาสมทบด้วย คนที่ส่งมาไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแต่รู้ว่ามีการรับประทานอาหารจึงส่งมาร่วมด้วย เป็นแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักคือเราต้องการโปรโมตร้านเล็กๆ ให้สามารถมีป้ายไปติดได้ว่าร้านของเขานั้น ครม.เลือกมาชิม

นอกจากนี้ ยังมีของอร่อยหลายอย่าง แต่ขายกันตอนกลางคืน ครม.ประชุมตอนกลางวันจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประทานแต่พอไปบอกเขาก็ยินดีทำให้สำหรับ ครม. เมนูส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งขนมที่เสิร์ฟในห้องประชุม จะพยายามไปหาขนมต่างๆ อย่างไรก็ตาม สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้รับรับผิดชอบเรื่องนี้

ขณะที่ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสริมว่า คิดว่า ครม.เป็นเหมือนครอบครัว นายกรัฐมนตรีเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว ฉะนั้นแล้วการทานอาหารกับคนในครอบครัวจะทำให้ความรู้สึกหรือบรรยากาศต่างๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบรรยากาศในการประชุม ครม.ดีอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร การที่เป็นครอบครัวใหญ่ได้รับประทานอาหารร่วมกัน จะนำมาซึ่งความสุขและความสุขอยู่ใกล้นิดเดียว

ทั้งนี้ นายกฯเป็นคนที่น่ารักเป็นกันเองและมีความรักให้กับทุกคน เวลาทานอาหารก็จะเดินคุยกับทุกคนที่มาร่วมประชุม ครม. ในตอนที่ทานข้าวนายกฯก็นั่งคุยมีแต่เสียงหัวเราะและความสุข จึงคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความสุขแบบไทยๆ ที่ได้ทานข้าวร่วมกันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้คุยในเรื่องการบ้านเมืองบ้าง เรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องอะไรที่มันใหม่ๆ แล้วการทานอาหารร่วมกันก่อให้เกิดไอเดียที่จะสามารถพัฒนาบางอย่างได้และนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศได้ในบางเรื่อง

สำหรับส่วนตัวอยากนำเสนอเมนูใดมาให้ ครม.ร่วมรับประทานบ้างหรือไม่นั้น โฆษกประจำสำนักนายกฯบอกว่า คงเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ชื่อ กินเส้น ของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยทานมาแล้วถือว่าอร่อยดี

ความอร่อยของ ครม.แบบนิวนอร์มอล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image