หน้า 3 วิเคราะห์ : การเมืองร้อน ‘พ.ค.’ ชิงผู้ว่าฯกทม.ถึงซักฟอก เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

หน้า 3 วิเคราะห์ : การเมืองร้อน ‘พ.ค.’ ชิงผู้ว่าฯกทม.ถึงซักฟอก เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

การเมืองร้อน ‘พ.ค.’

ชิงผู้ว่าฯกทม.ถึงซักฟอก

เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

การเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป ความเข้มข้นและความร้อนแรงจะกลับมาอีกครั้ง

Advertisement

ปัจจัยหนึ่งคือ การเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคมถึงวันที่ 18 กันยายน 2565 ตามที่รัฐธรรมนูญ

มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย สมัยหนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

อีกปัจจัยหนึ่งคือ เงื่อนไขการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล แบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ได้สมัยประชุมละหนึ่งครั้ง

Advertisement

ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถเดินหน้าตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและเพิ่มแรงกดดันในทางการเมืองต่อ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่บริหารงานช่วงปีสุดท้าย

ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องรองรับไว้ได้อย่างชอบธรรม

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แม้จะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 3 ครั้ง แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งที่ 4 และเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ที่สะสมบาดแผลของความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ทั้งเรื่องวิกฤตโควิด จนส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้หนักหนากว่าเดิม ที่ประชาชนรับรู้กันอย่างถ้วนหน้า

กลยุทธ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ แน่นอนคงต้องทุ่มสรรพกำลังและงัดทุกยุทธวิธี

ไปที่การอภิปราย เพื่อชี้ชัดให้ตรงเป้าหมาย หลักของศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล นั่นคือ “กลุ่ม 3 ป.” ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเป้าหมายหลัก รวมทั้งพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสาค้ำยันสำคัญ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย

พรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงประกาศให้เห็นถึงกลยุทธ์ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลด้วยว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม

โดยจะรวบรวมรายชื่อและข้อกล่าวหา เพื่อยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ชิงยุบสภา

หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว จะยุบสภามิได้

เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าว หรือเสียงไม่ไว้วางใจของนายกฯ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน ส.ส.ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ คือ 476 เสียง เสียงชี้ขาดผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เก้าอี้นายกฯ คือ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ คือ 239 เสียง

แน่นอนฝ่ายรัฐบาลผู้ถืออำนาจ ย่อมต้องทุ่มทุกสรรพกำลังเช่นกัน ในการรักษาสถานะ อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามเป้าหมายที่กลุ่มผู้มีอำนาจ ใน “กลุ่ม 3 ป.”

ระบุไว้ว่า รัฐบาลวางเป้าหมายไว้ว่า จะอยู่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

ก่อนที่จะมีการยุบสภา เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงต้นปี 2566

ก่อนเปิดการประชุมสภา และก่อนการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงมีกระแสข่าวเกี่ยวกับ “ดีล” ลับครั้งสำคัญในทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาล

กับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค เพื่อคงไว้แค่เป้าหมายหลัก และเลี่ยงบางชื่อ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ทางหนึ่งเพื่อทอดไมตรีต่อการจัดตั้งรัฐบาล

หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และยังเป็นการดิสเครดิต ตัดแต้มความน่าเชื่อถือ ขุนพลพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะขึ้นทำศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ

ร้อนถึง “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาส่งสัญญาณผ่าน รายการ CARE Talk x CARE ClubHouse

หัวข้อ “มองเมืองดูไบ ใส่ใจกรุงเทพฯ ถึงตัวอยู่ไกล แต่ใจยังคิมิโนโตะ” ถึงกรณีกระแสข่าวว่า กลุ่ม 3 ป. ส่งคนไปคุยเพื่อดีลการเมือง ทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ

ศึกซักฟอกรัฐบาลกลางปีนี้ โดยนายทักษิณ ยืนยันว่า “ไม่มี สาบาน ผมลูกผู้ชาย ไม่มีใครมาคุยกับผมและผมไม่ได้คุยกับใคร มีแต่คุยเรื่องสถานการณ์การเมืองทั่วไป

กับคนไทยที่มาเยี่ยมผมไม่เคยขอร้องใคร และไม่เคยมีใครเอาคำพูดใครมาเจรจากับผม ไม่มีจริงๆ” เป็นการสยบข่าว “เกี้ยเซี้ย” ในทางการเมือง ระหว่าง กลุ่ม 3 ป. กับ พรรคฝ่ายค้าน

เพื่อยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะจัดหนัก ใส่เต็มที่ ชกให้สมศักดิ์ศรี ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะรู้คำตอบสุดท้ายแล้วว่า

อย่างไรเสีย ถ้าไม่มีปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้นายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โอกาสที่เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ร่วงกลางสภา

ผ่านคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจให้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภา คงเป็นไปได้ยาก เกมที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพอจะทำให้เกิดขึ้นได้ นั่นคือ

การอภิปรายเพื่อโน้มน้าวผ่านข้อมูลและหลักฐานที่เรียกว่าหมัดเด็ด มีใบเสร็จชัดให้เพื่อนสมาชิกเห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของนายกฯ พร้อมกับโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” มีคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด

เพื่อเป็นการทำลายความชอบธรรม ตีแผ่ให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจนอกสภาร่วมไปด้วย ผ่านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กอปรในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 22 พฤษภาคม ที่คาดหมายว่า ประชาชนจะมีความตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ในพื้นที่ กทม. ที่ว่างเว้นการมีผู้ว่าฯกทม.

ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนถึง 9 ปี ว่าจะมอบอำนาจ และ ฉันทามติ ให้ผู้ใดเข้ามาทำหน้าที่ดูแลทุกข์ สุข ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ในห้วง 4 ปี นับจากนี้ ตามกติกา

ตามกติกา แน่นอนว่ากระแสเรียกร้องผ่านศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ฉายภาพชัดของการเมืองท้องถิ่น จะส่งเสียงดังไปถึงการเมืองภาพใหญ่ ผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะเสถียรภาพรัฐบาล และเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” จะมั่นคง หรือสั่นคลอน ผ่านความเข้มข้นและร้อนแรงของการเมืองนับแต่เดือน “พฤษภาคม” เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image