จากกรณีเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration โพสต์ข้อความเรื่อง สถาบันปรีดี พนมยงค์ ถูกรื้อถอน ระบุว่า
สถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสวนครูองุ่นที่ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 55 หรือซอยทองหล่อ ถูกสร้างขึ้นในยุคหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งที่ดินแห่งนี้ได้ถูกบริจาคโดยครูองุ่น มาลิก และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทย โดยสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอดและยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อวงการศิลปะและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก
เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มทะลุฟ้าได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute เพื่อขอคัดค้านการรื้อถอนอาคารของสถาบัน และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการออกมาชี้แจงต่อสาธารณะ ดังนี้
1.ให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารโครงสร้างของตึกสถาบันปรีดีว่ามีเหตุผลอย่างไร และให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันปรีดีได้อย่างชัดเจน
2.ให้คณะกรรมการต้องชี้แจงเหตุผลที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถบริหารต่อไปได้ในรูปแบบอาคารเดิม
3.ขอให้เปิดเผยสัญญาระหว่างสถาบันกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งว่ามีเงื่อนไขอย่างไร ผลประโยชน์ของสถาบันจะเป็นอย่างไรหากจัดสร้างพื้นที่ และให้ภาคประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพิจารณาผ่านการตั้งโต๊ะร่วมระหว่างคณะกรรมการ ภาคประชาชนและประชาชนที่สนใจ
หลังจากได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารและคณะกรรมการชุดปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารและคณะกรรมการชุดปัจจุบันมิได้สานต่อเจตนารมณ์ของครูองุ่น มาลิก อีกทั้งยังจะแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนให้มีการเช่าพื้นที่กับบริษัทเอกชน เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร
ในขณะนี้ วันที่ 1 เมษายน 2565 พื้นที่แห่งนี้ที่เป็นมรดกของประชาชนกำลังถูกรื้อถอน โปรดจับตาสถานการณ์ร่วมกัน และปกป้องสถาบันปรีดีเพื่อสร้างสรรค์สังคมเพื่อลูกหลานในอนาคตร่วมกัน
ล่าสุด มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เขียนคำชี้แจง ณ วันที่ 2 เมษายน 2565 ระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวเกี่ยวกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ปรากฏทางโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนบางส่วน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ นั้น มูลนิธิขอเรียนชี้แจงต่อสาธารณชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1.“สถาบันปรีดี พนมยงค์” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้ง 2 ประการ คือ 1) เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ การส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ แก่สาธารณะ และ 2) จัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริม
ด้านการศึกษา จริยธรรม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ
2.การบริหารงานของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งและมีข้อบังคับในการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์มูลนิธิ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอื่นใด ดังนั้น นโยบายและการดำเนินงานใดๆ จึงเป็นเรื่องภายในของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์
3.ครูองุ่น มาลิก เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยได้มอบที่ดินแก่มูลนิธิปรีดี เพื่อก่อสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตามหนังสือมอบที่ดิน ลงวันที่ 5 กันยายน 2526 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการสืบสานเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับของมูลนิธิปรีดี ซึ่งในคราวทำตราสารจัดตั้งมูลนิธิปรีดี เมื่อปี พ.ศ.2526 ครูองุ่น มาลิก ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้รับทราบเนื้อหาในตราสารนั้นด้วย ดังนั้น การทำงานของมูลนิธิจึงยึดตามข้อบังคับในตราสารดังกล่าวเป็นหลักเสมอมา และไม่อาจกระทำการใดนอกจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิได้
4.เหตุที่ต้องมีการปรับปรุงรื้อถอนอาคาร เนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่ ซึ่งใช้งานมากว่า 20 ปี โดยไม่เคยมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำให้สภาพอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เสื่อมโทรมลงไปมาก ทางคณะกรรมการมูลนิธิพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย และไม่สะดวกต่อการใช้งาน จึงได้ประกาศปิดปรับปรุงพื้นที่ชั่วคราว
หลังจากที่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบประเมินสภาพอาคารแล้ว พบว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหลายประการ เช่น โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง ฝ้าอาคารถล่มลงมา ระบบไฟฟ้า ประปา ชำรุด ซึ่งไม่สามารถที่จะซ่อมแซมอาคารเดิมได้ แต่ควรเป็นการรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้สอยได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้ในระยะยาว (อย่างน้อยอีกกว่า 30 ปีขึ้นไป)
อย่างไรก็ตาม การสร้างอาคารใหม่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ในขณะที่งบประมาณของมูลนิธิมีไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงดังกล่าว ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากเงินบริจาคลดลงมาก และมีข้อจำกัดในเรื่องการระดมทุนหารายได้ ทางคณะกรรมการจึงได้หาทางออกเพื่อให้สถาบันปรีดีได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะต่อไป แทนที่จะต้องปิดตัวลง ด้วยวิธีการเปิด TOR ให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) เพื่อให้มีพื้นที่มูลนิธิสำหรับจัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอย่างยั่งยืน (อย่างน้อยอีกกว่า 30 ปีขึ้นไป)
การดำเนินการในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์และทำให้มูลนิธิสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน โดยบริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ได้ยื่นนำเสนอโครงการและมีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใน TOR มากที่สุด จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาพัฒนาโครงการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ตามที่สถาบันปรีดีได้แจ้งให้สาธารณชนรับทราบในสารอวยพรปีใหม่ 2565
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการเจรจาโครงการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดี มูลนิธิปรีดีได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 21 เมษายน 2563 ถึงมูลนิธิไชยวนา (สวนครูองุ่น) ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ให้รับทราบว่าโครงการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดีจะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น และขอความคิดเห็น ซึ่งทางมูลนิธิไชยวนาก็ไม่ขัดข้อง โดยได้ทำหนังสือแจ้งรับทราบ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 มีเนื้อหาระบุว่า ขอบคุณมูลนิธิปรีดีที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมระหว่างการรื้อถอน และการก่อสร้างอาคารหลังใหม่สูง 7 ชั้น มูลนิธิไชยวนายินดีให้ความร่วมมือกับมูลนิธิปรีดีในการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เท่าที่ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของครูองุ่น และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไชยวนา ตามข้อบังคับและตราสารที่ได้จดทะเบียนไว้
5.สำหรับการใช้สอยพื้นที่อาคาร 7 ชั้น จะแบ่งออกเป็นพื้นที่ของ บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ซึ่งกำหนดให้เป็นโชว์รูมและสำนักงานให้เช่า และพื้นที่ของสถาบันปรีดีจะอยู่บริเวณชั้น 6 และ 7 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 600 ตร.ม. ประกอบด้วยโถงทางเข้า ซึ่งจะเป็นการใช้สอยพื้นที่แบบ Mixed Use ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ที่มีฟังก์ชั่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย พื้นที่แสดงผลงานนิทรรศการ ห้องสมุด และ Co-working space พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Auditorium ขนาด 100 ที่นั่ง ในรูปแบบ Black Box Theater ซึ่งสามารถรองรับการจัดกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนา สัมมนา ห้องเรียน คอนเสิร์ต และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายคือ เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม และเครือข่ายธุรกิจ SME/Startup ตลอดจน NGO/NPO
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ตระหนักดีถึงบทบาทหน้าที่ในการสืบสานอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย รวมถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นจริงในสังคมไทย จึงได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาส่งเสริมงานด้านวิชาการ ควบคู่กับด้านศิลปวัฒนธรรมและประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ในเรื่องการวิจัย เสวนา และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเคร่งครัด
ดังนั้น ผู้ที่ติดตามการดำเนินงานของสถาบันปรีดีจะเห็นได้ว่าสถาบันปรีดีมิได้สื่อเรื่องราวของความดี และความจริงทางสังคมโดยผ่านงานวิจัย ปาฐกถา และงานเสวนาทางวิชาการเท่านั้น หากยังสื่อผ่านงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์สื่อออกไปถึงมวลชนทุกหมู่เหล่า แม้มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ แต่มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงดำเนินงานตามเจตนารมณ์เดิมของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง
นางสาวสุดา พนมยงค์
ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์