ครม. ไฟเขียวแก้ ร่าง พ.ร.บ.กฟน. สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน-ให้อำนาจผลิตไฟฟ้าได้

ครม. ไฟเขียวแก้ ร่าง พ.ร.บ.กฟน. สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน-ให้อำนาจผลิตไฟฟ้าได้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 เมษายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 ที่ใช้บังคับมานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจการของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โดยการแก้ไขเพิ่มเติมมีสาระสำคัญ อาทิ 1.แก้ไขเพิ่มวัตถุประสงค์ของการไฟฟ้านครหลวง 2 ข้อ คือ ข้อ 1 เพิ่มเติมคำว่า “ผลิต และ จัดส่ง” (จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ จัดให้ได้มา และ จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า) รวมเป็น “ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า” เพื่อให้ กฟน. มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้ (1)ให้มีอำนาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ (จากเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการได้) โดยเป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า หรือระบบไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน (2)ให้มีอำนาจจัดส่งและประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (จากเดิม ใช้คำว่า “ระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า”) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 และข้อ 2 ดำเนินธุรกิจและกิจการอื่นใด โดยสามารถนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ เช่น การทำแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) โครงข่ายใยแก้วนำแสง และโครงการธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 2.กำหนดเพิ่มเติมให้ กฟน. มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ 3.กำหนดท้องที่ที่ กฟน. เป็นผู้จำหน่ายสำหรับพลังงานไฟฟ้าและประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ได้แก่ เขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ณ วันจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง 4.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น เนื่องจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยให้ กฟน. ใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังริมทรัพย์เท่าที่เสียหาย (จากเดิมที่กำหนดให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย) และ 5.แก้ไขเพิ่มเติมวงเงินการกู้ยืมเงินที่ กฟน. จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก่อนการดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน จาก “จำนวนเงินเกินคราวละ 40 ล้านบาท” เป็น “จำนวนเงินเกินคราวละ 100 ล้านบาท”

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับการไฟฟ้านครหลวงในการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมต่อไปได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image