ปลัดมหาดไทย ต้อนรับผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม ถกร่างพ.ร.บ.ป้องกันทำความผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศ

ปลัดมหาดไทย ต้อนรับผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม ถกร่างพ.ร.บ.ป้องกันทำความผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ….

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมให้การต้อนรับนางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และ ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม ในโอกาสนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในคดีที่เกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…. โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน  นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง ร่วมหารือ

ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า อาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ เป็นหนึ่งในปัญหาสังคมไทยที่ปรากฏตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง และสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง เนื่องจากรูปแบบของการกระทำความผิดกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ ทรัพย์สิน หรือบางกรณีอาจร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ถูกกระทำ โดยจากสถิติพบว่ากว่า 50% ของผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงซึ่งพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลาสามปี ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดซ้ำบังคับใช้อย่างเฉพาะเจาะจง แม้จะมีมาตรการบางส่วนปรากฏในกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็ยังไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซี่งกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ดำเนินการศึกษากฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด จึงได้ทำการยกร่างพระราชบัญญัติมาตรการการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในคดีที่เกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพนักงานอัยการร้องขอและศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอ ได้แก่ 1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด 2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ 3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ 4. มาตรการคุมขังฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความผิดปกติทางจิตบางอย่าง รวมถึงผู้ป่วยจิตเวช โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะเฝ้าระวังไปอีก 10 ปีภายหลังพ้นโทษ และมีการกำกับดูแลให้มีการดูแล แก้ไข ฟื้นฟู

นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “บ้านไหนมีผู้หญิงมีเด็กเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด” ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ผู้ที่พ้นจากการถูกคุมขังที่อยู่ระหว่างการรักษาฟื้นฟูและกลับเข้าไปในชุมชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เครือข่ายชุมชนและสังคมเข้ามาสนับสนุนในการดูแลเอาใจใส่ด้วยพลังความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนที่พ้นโทษจะยังคงได้รับการเฝ้าระวัง และผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

Advertisement

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีรวมถึงผู้คนในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติมาตรการการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในคดีที่เกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…. ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมฉบับนี้ มีแนวทางที่จะทำให้เกิดมาตรการในการควบคุมทางสังคม ทำให้ผู้ที่พ้นจากการถูกคุมขัง ได้รับการติดตามดูแลไม่ให้มีโอกาสได้กระทำความผิด โดยความร่วมมือของชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดหลักประกันในด้านความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย. ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำสตรีโลก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสามารถมีส่วนร่วมในการรณรงค์และประกาศให้ผู้นำสตรีทั่วโลกได้ทราบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถยุติการกระทำได้ แต่เราสามารถลดความรุนแรงได้

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน ด้วยกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาทางนิติบัญญัติ หากกระทรวงยุติธรรมมีข้อมูลของผู้พ้นโทษเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและกลับเข้าไปใช้ชีวิตภายในหมู่บ้าน/ชุมชน สามารถประสานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนในการเฝ้าระวัง และช่วยกันดูแลผู้พ้นโทษไม่ให้สามารถกระทำความผิด และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน อันจะเป็นการป้องกันและลดปัจจัยที่จะทำให้ผู้พ้นโทษกลับมากระทำความผิดซ้ำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงมหาดไทยเพื่อ “พัฒนาคน” อันจะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image