ณกรณ์ ตรรกวิรพัท : โชว์ศักยภาพไทย-มหกรรมยางนครศรีฯ

รายงานหน้า 2 : ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ดัน‘ไทย’ชูนวัตกรรมแปรรูปยางโลก

รายงานหน้า 2 : ณกรณ์ ตรรกวิรพัท โชว์ศักยภาพไทย-มหกรรมยางนครศรีฯ

หมายเหตุ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงภาพรวมสถานการณ์ยางพารา และฉายภาพการจัดกิจกรรมภายในงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯแห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯแห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ในปีนี้ มีแนวคิดเน้นการโชว์ศักยภาพไทยศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมแปรรูปยางพาราโลก และมีการเปิดเวทีเจรจาธุรกิจ ในส่วนของ กยท. ครั้งนี้จะนำนวัตกรรมเรื่องการจัดการ และนวัตกรรมที่ดึงในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อาทิ การทำโชว์เคสสวนยางยั่งยืน การสอนอาชีพเสริมที่นอกเหนือจากการกรีดยาง และการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางหันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ เพราะตอนนี้ปัญหาหลักที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่คือเรื่องราคาปุ๋ย กยท.จึงอยากให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ เป็นต้น

ในเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นนั้น สอดคล้องกับนโยบายของ กยท. ในปี 2565 ที่ต้องการนำนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการผลักให้หันมาทำในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เนื่องจากกระทรวงต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องปุ๋ยขาดแคลน และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายในกระทรวงใช้นโยบายเรื่องเกษตรอินทรีย์ กยท.ก็รับลูกในเรื่องนี้ เพราะเราก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ใช้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างเยอะ ที่ปี 2565 มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหา ทาง กยท.จึงมีแผนที่จะลดสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ กยท. จะเริ่มดำเนินการในปีนี้เลย วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการสื่อสารให้ชาวบ้านและเกษตรกรได้รับทราบ และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานมหกรรมยางพารา 2564 จะนำนวัตกรรมเรื่องการจัดการ อาทิ การนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น เพราะเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญ กยท.ต้องการผลักดันในเรื่องนี้ ในปัจจุบันได้มีการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา คือ แอพพลิเคชั่น RUBBER WAY ร่วมกับบริษัทยางล้อ ในเรื่องของการตรวจสอบการทำสวนยางยั่งยืน เรื่องนี้เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ เพราะถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่ดีระบบก็จะบอกและให้เกษตรกรได้ปรับปรุง แต่ถ้าดีแล้วก็จะเป็นการทำให้ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบในแอพพ์ อาทิ กลุ่มบริษัทยางล้อ ให้เห็นว่าสวนยางประเทศไทยมีมาตรฐาน นอกจากนี้ ในวันงานจะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการจัดการซื้อของ และระบบ AFR ที่เป็นระบบการตรวจสวนยาง เพื่อลดการเคลื่อนย้าย อีกทั้ง ภายในงานจะมีการพูดถึงการนำโดรนมาใช้ในการทำบิ๊กดาต้า ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ กยท. ต้องการนำความรู้เหล่านี้ไปมอบให้กับเกษตรกร และพี่น้องประชาชนภายในงานได้รับทราบอีกด้วย

Advertisement

หลังจากนี้ กยท. เตรียมออกโปรดักต์เพื่อนำยางในระบบที่มีออกมาใช้ ครั้งนี้จะเป็นในลักษณะของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และลดการเกิดอุบัติภัย ส่วนเป้าหมายในการที่ กยท.ดึงเรื่องของเทคโนโลยีมาใช้ คือการช่วยเพิ่มมูลค่าของยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาง และ กยท.พยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถทำได้ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยาก ไม่ได้มีเทคนิคมาก เพราะจะได้มีประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกร

ในวันงานอาจไม่ได้มีการเปิดตัวนวัตกรรมอะไรใหม่ แต่สิ่งที่เราต้องการสร้างความรับรู้ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นเมืองการยาง หรือรับเบอร์อินโนเวชั่นฮับ เป็นส่วนหนึ่งของสำหรับโครงการรับเบอร์วัลเลย์ (Rubber Valley) ภายในงานจะโชว์ให้เห็นว่า กยท.จะพัฒนาพื้นที่ในส่วนใดบ้าง และจะมีลักษณะโครงการแบบใด เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่

สำหรับโครงการรับเบอร์วัลเลย์ เป็นรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจรโดยใช้พื้นที่ของ กยท. 41,000 ไร่ ใน ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช แต่การพัฒนาในเบื้องต้นจะเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ 3,000 ไร่ก่อน ส่วนพื้นที่ที่เหลืออาจปรับพื้นที่เป็นสวนยางต้นแบบ และสวนยางยั่งยืนได้ด้วย เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโชว์เคสที่จะนำไปให้ข้อมูลในงาน และจะดึงมหาวิทยาลัยมาช่วยในเรื่องของการพัฒนาคน เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งเมื่อปี 2564 กยท.ได้เสนอโครงการรับเบอร์วัลเลย์ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว ส่วนปัจจุบันได้มีการจ้างที่ปรึกษามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2565 ก็จะทราบผลของการศึกษา พร้อมกับจะมีการทำเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (มาร์เก็ตติ้ง ซาวน์ดิ้ง) ควบคู่กันไป และในปี 2566 จะมีการประกาศเชิญนักลงทุนต่อไป

Advertisement

ในเบื้องต้นเริ่มมีเอกชนให้ความสนใจกับโครงการนี้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงงานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ การผลิตพื้นจากยางพารา เป็นต้น แต่อาจจะต้องรอดูความชัดเจนของนโยบายในเรื่องนี้ก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ กยท. มั่นใจว่าสามารถผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้แน่นอน เพราะยางพาราเป็นสินค้าธรรมชาติ และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) อีกทั้งยังสอดคล้องกับเรื่องคาร์บอนเครดิต เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ กยท.จะผลักดันให้เกิดภายในปี 2565 นี้ เพราะยางเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดกับเรื่องนี้ ยางสามารถดูดซับคาร์บอนได้เยอะ

นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) ทำแพลตฟอร์มขึ้นมา ในเรื่องของการซื้อขาย โดย ส.อ.ท.จะเป็นคนดึงผู้ซื้อเข้ามา ส่วน กยท.เป็นต้นทาง และเอกชนเป็นปลายทาง หากเป็นเช่นนี้จริงก็สามารถทำให้โครงการสามารถไปต่อได้แน่นอน ส่วนเรื่องงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว คาดว่าใช้ไม่เยอะเนื่องจากมีวัตถุดิบอยู่แล้วก็คือ ยางพารา และยางยังถือเป็นสินค้า Zero waste ที่สมบูรณ์ เนื่องจากทุกส่วนของยางสามารถขายได้อีกด้วย

สิ่งที่ กยท. ต้องการนำเสนอคือ อยากให้เห็นว่ายางพารา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ชาวสาวยางเข้าใจดี หลายคนเริ่มปรับตัวให้เข้าถึงเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องของการซื้อขาย และการผลิตมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ประชาชนไม่เข้าใจ แสดงว่า กยท.สื่อสารไม่ดี ดังนั้น ต้องสื่อสารให้เข้าใจง่าย มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกอย่างยังเหมือนเดิมแต่แค่เพิ่มการเก็บข้อมูลเข้าระบบดิจิทัล แต่จะเกิดดีมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ กยท.จะผลักดันให้ยางกลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ต่อไปยางต้องสามารถใช้ได้หลากหลาย อาทิ เรื่องสุขภาพ อนามัย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ใช้ปริมาณวัตถุดิบน้อยแต่ได้เงินเยอะ เป็นต้น

ส่วนเรื่องตลาดยางพาราล่วงหน้า ขณะนี้ ยังอยู่ในทิศทางที่ดี จากการคาดการณ์ของสมาคมผู้ผลิตยางโลก คาดการณ์ว่าอีก 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2565-2571 ซัพพลายยางจะชอร์ตตลอด โดยเฉพาะปี 2571 อาจจะชอร์ตเยอะ เพราะอากาศเปลี่ยน และผลผลิตน้อย แต่ในทางบวกประเทศผู้ใช้ดีมานด์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกแล้ว เพราะดีมานด์อั้นไปนานกว่า 2 ปี จากผลกระทบโควิด-19 พอทุกประเทศกลับมามีความต้องการใช้มากขึ้น กลายเป็นว่าความต้องการมีมากขึ้น แต่สต๊อกยางลดลง ในช่วงที่ผ่านมา กยท.พยายามเคลียร์ปัจจัยกดดันออกให้หมด ส่วนของประเทศคู่แข่งของไทย อย่างมาเลเซีย ก็ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะได้ปรับตัวเป็นประเทศผู้นำเข้าแล้ว ส่วนอินโดนีเซียก็ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วง เสียหายกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกกับไทย

นอกจากนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการลดพื้นที่การปลูกยาง เนื่องจากแผนการลดพื้นที่ปลูกยางเป็นแผนในอดีต ที่ต้องการลดปัญหายางล้นตลาด แต่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องลดพื้นที่ เพราะความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศมีมากขึ้นแล้ว ส่วนแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ลดพื้นที่การปลูกแต่จริงๆ ไม่ใช่เพราะซัพพลายเกิน แต่ต้องการลดเพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีราคาสูงกว่าแทน หลังจากนี้ กยท.จะมีการทำแผนใหม่ โดยจะไม่มีการลดพื้นที่ปลูกยาง เพราะถ้าลดจะยิ่งเป็นการเปิดช่องทางให้กับประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นไปอีก

ส่วนทิศทางเรื่องราคายางพารา มองว่าราคาหลังจากนี้ยังมีเสถียรภาพ และเกษตรกรพอใจแน่นอน เพราะทิศทางราคายางในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ ยังดีอยู่ ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นเพียงโครงการที่สร้างความมีเสถียรภาพทางด้านราคาของสินค้าเกษตรเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้ราคายางสูงขึ้น แต่มีโครงการนี้ไว้ก็ดีกว่า แม้ว่าโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 3 จะใช้งบประมาณไปเพียง 2 พันล้าน จากจำนวนงบประมาณทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท หรือใช้ไปเพียง 20% ในระยะต่อไปก็ยังต้องของบสนับสนุนในส่วนนี้อยู่ดี เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image