‘ฝ่ายค้าน’ ไม่ยังชัวร์ยื่นซักฟอกช่วงไหน ด้าน ‘หมอชลน่าน’ เผยได้อภิปรายก่อน 23 ส.ค.แน่ เตรียมวัดกระแสหนุน รบ.พิจารณางบปี 66 วาระ 1 เชื่ออยู่ไม่ครบเทอม หลังเอเปคก็ไปแล้ว
เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 7 เมษายน ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ในเดือนพฤษภาคม ว่า
ฝ่ายค้านเรามีการประชุมร่วมกันตลอดและบ่ายวันนี้ (7 เมษายน) เป็นการนัดประชุมครั้งที่ 3 ที่จะพิจารณาร่วมกันและมติของฝ่ายค้านออกมาตั้งแต่แรกแล้วว่า เราจะพยายามยื่นให้เร็วที่สุด โดยนับตั้งแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งคำว่าเร็วที่สุดโดยที่ประชุมมีเงื่อนไขว่าต้องดูบริบทโดยรวมว่าการยื่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่
เพราะจังหวะการยื่นมีการพิจารณากฎหมายสำคัญอยู่ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่จะสามารถเข้าสภาได้ช่วงไหน รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีความชัดเจนว่าจะเข้าสู่สภาในวาระรับหลักการวันที่ 1-2 มิถุนายน ดังนั้น จังหวะนี้ก็คาบเกี่ยวพอสมควร ถ้าการยื่นไปทำให้กฎหมายสำคัญเนิ่นช้าไปหรือไปเป็นการขัดขวาง เราก็อาจจะนำสิ่งเหล่านั้นมาร่วมพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น
“ดังนั้น ยังไม่ได้กำหนดว่าวันที่ 23 พฤษภาคม จะเป็นวันยื่นญัตติ จริงๆ ใจเราเดิมต้องการยื่นก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 เพื่อจะดูเรื่องเสียงในสภาและเมื่อกำหนดไทม์ไลน์พิจารณางบประมาณเช่นนี้มาแล้ว เราก็ไม่สามารถอภิปรายก่อนพิจารณางบแน่นอน ยกเว้นงบประมาณผ่านไปแล้วและกลับมาในวาระ 2-3 ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ฉะนั้น ช่วงกลางๆ นี้คิดว่าน่าจะเหมาะสมแต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะยื่นได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่เราเตรียมความพร้อมตลอด ทั้งฝ่ายเนื้อหาสาระที่จะใช้ในการอภิปรายก็มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ ประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็มั่นใจว่าจะอยู่ครบเทอมแน่
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่เป็นจุดมุ่งหมายของเขาอยู่แล้ว ฝ่ายรัฐบาลเขาพยายามดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่เท่าที่ดูยังมีความมั่นใจว่ารัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม เพราะ 1.มีประเด็นเรื่องของผลงาน 2.เชื่อว่ายุบสภาก่อนแล้วไปเลือกตั้งได้ครบเทอมอย่างที่เขาเคยพูดออกมาว่าหลังเอเปค เพราะเขาต้องการผลงานเรื่องเอเปค และถ้าปล่อยให้ครบเทอมมีประเด็นสำคัญเรื่องการย้ายพรรคของ ส.ส. ดังนั้น ถ้ายุบสภาช่วงหลังเอเปคจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ เพราะกฎหมายกำหนดให้เลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน แต่กฎหมายพรรคการเมืองบอกว่ากรณียุบสภาให้สังกัดพรรคภายใน 30 วัน จึงมีเวลา 30 วัน ที่เขาจะโยกย้ายและเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ง่าย สะดวกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่ครบเทอมที่ต้องสังกัดใหม่ภายใน 90 วัน และเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่เขาดูว่ามีโอกาสที่เขามีประโยชน์สูงสุดเขาก็จะทำแบบนั้น
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น มีเรื่องวาระครบ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีวันที่ 23 สิงหาคม ที่ทำให้เขาอาจต้องตัดสินใจยุบสภาก่อน และการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เราจะยื่นและมั่นใจว่าการอภิปรายต้องเกิดก่อนวันที่ 23 สิงหาคมแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องไปดูอีกที โดยฝ่ายค้านจะทดสอบเบื้องต้นคือการพิจารณางบประมาณปี 2566 โดยเราจะติดตามว่าวาระรับหลักการจะมีประเด็นอะไรหรือไม่ หากมีร่องรอยไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจะคาดการณ์ได้ เพราะเราจะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงนั้น และหากรัฐบาลผ่านงบประมาณไปได้ก็จะมีวันที่ 23 สิงหาคม วาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งก็ถือว่าหลังเอเปค