ผุด‘สมาร์ท ปาร์ค’ นิคมฯอัจฉริยะ-ลดคาร์บอน

ผุด ‘สมาร์ท ปาร์ค’ นิคมฯอัจฉริยะ-ลดคาร์บอน

เมื่อเร็วๆ นี้โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ได้ฤกษ์เดินหน้าก่อสร้างอย่างเป็นทางการ โดยมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำพิธีเปิด

กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งเป้าหมายเปิดดำเนินการภายในปี 2567 ถือเป็นพลุดอกแรกที่ยืนยันได้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จ หลัง กนอ.ปูพรมศึกษาตั้งแต่ปี 2561 ใช้เวลาดำเนินการถึง 4 ปี กว่าทุกอย่างจะลงตัว

ทำความรู้จักนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์คถือเป็นนิคมต้นแบบภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดบทบาทนิคมฯเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (นิว เอส-เคิร์ฟ) ต้องมีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนในด้านต่างๆ เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

พิกัดที่ตั้งโครงการ ติดถนนทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) หลักกิโลเมตรที่ 202-203 ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง พื้นที่รวม 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่
พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 373.35 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 238.32 ไร่

Advertisement

คาดการณ์มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ระยะก่อสร้าง จ้างงานประมาณ 200 คน ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน 23,760,000 บาทต่อปี เมื่อนิคมฯเปิดดำเนินการประเมินว่าจะกระตุ้นการจ้างงานได้ถึง 7,459 คน เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ 1,342,620,000 บาทต่อปี

หลังจากลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแล้วกำหนดเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ปัจจุบันก่อสร้างแล้ว 7.66%

นิคมฯสมาร์ท ปาร์ค มีความพิเศษตั้งแต่แนวคิดโครงการที่กำหนดเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัยที่สุดของไทย เพื่อดึงความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งด้านการเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จัดแบ่งเป็นลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) มีระบบรักษาความปลอดภัย

Advertisement

มีแนวกันชนด้วยพื้นที่สีเขียว ใช้ไม้ยืนต้นปลูกเป็นแนวรอบแต่ละคลัสเตอร์เพื่อความร่มรื่น การนำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดินเพื่อความสวยงามทางด้านทัศนียภาพและความปลอดภัย การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค

ตัวโครงการจึงแบ่งความสมาร์ทออกเป็น 9 ด้านที่นักลงทุนต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด ดังนี้ 1.สมาร์ทด้านทำเลที่ตั้ง โครงการอยู่ในจุดที่แวดล้อมด้วยเส้นทางการคมนาคม ถนนสุขุมวิท รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ เส้นทางมอเตอร์เวย์ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 2.สมาร์ทด้านการขนส่ง ส่งเสริมการลดใช้พลังงานจากยานพาหนะส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้การเดินทางระบบสาธารณะมาก สนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สร้างระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ติดตั้งระบบควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะ

3.สมาร์ทด้านกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistic) อุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ซึ่งทั้งหมดนี้คืออุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล 4.สมาร์ทด้านสิ่งแวดล้อม เน้นพื้นที่สีเขียว 5.สมาร์ทด้านระบบสาธารณูปโภค กำหนดให้ผู้ลงทุนใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดตั้งระบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์) ลอยน้ำและบนหลังคาอาคาร ใช้ระบบสมาร์ท กริด เพื่อแลกเปลี่ยนพลังงานภายในโครงการ การใช้มิเตอร์แบบสมาร์ทมิเตอร์ ทั้งมิเตอร์ไฟฟ้า และมิเตอร์ประปา

6.สมาร์ทด้านอาคารประหยัดพลังงาน การออกแบบอาคารต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว 7.สมาร์ทด้านการสื่อสารไร้สาย มีระบบสื่อสารภายในนิคมฯเป็นระบบไอโอที มีการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ วางระบบสื่อสารด้วยระบบท่อร้อยสายลงดิน 8.สมาร์ทด้านความปลอดภัย มีศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีระบบซีซีทีวี กระจายตามจุดต่างๆ ของโครงการ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี และ 9.สมาร์ทด้านการใช้ชีวิต จัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ทันสมัย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของแรงงานและประชาชนดีขึ้น

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ให้ข้อมูลว่า นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะเป็นต้นแบบของนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค นำสายไฟลงใต้ดิน จ่ายไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โรงงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 80% ของพื้นที่ กำหนดให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้าในพื้นที่ คาดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,800 ตัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 180,000 ต้น

ระหว่างที่โครงการเร่งก่อสร้างตามแผน ผู้ว่าการวีริศระบุว่า จะเร่งชักจูงนักลงทุนให้เข้าลงทุนในปี 2567 เมื่อนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์คแล้วเสร็จ ล่าสุด กนอ.เริ่มพบปะนักลงทุนที่สนใจลงทุนบางส่วนแล้ว และหลังจากนี้จะเดินหน้าจัดโรดโชว์ในต่างประเทศต่อเนื่อง เน้นประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และประเทศในยุโรป โดยเฉพาะนักลงทุนที่สนใจย้ายฐานการผลิตจะเข้าไปชักจูงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยาและวัคซีน ยานยนต์แห่งอนาคต โลจิสติกส์ และระบบอัตโนมัติ

“ล่าสุด กนอ.ยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนในนิคมฯ เพื่อให้นักลงทุนในนิคมฯมีความมั่นคงทางไฟฟ้าและเป็นพลังงานที่สะอาด” ผู้ว่าการวีริศกล่าว

ภายใต้แผนการเตรียมนิคมฯแห่งใหม่ของ กนอ. เมื่อสำรวจคำขอการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ล่าสุด พบว่า แนวโน้มการลงทุนไทยยังเดินหน้าได้ดี

ดูจากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2564 มีมูลค่าถึง 642,680 ล้านบาท จาก 1,674 โครงการ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีโครงการยื่นขอมูลค่า 455,331 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2565 แม้วิกฤตโลกจะมีทั้งโควิดและสงคราม แต่ไทยยังคงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะมีจำนวนคำขอลงทุน 378 โครงการ มูลค่า 110,733 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 77,290 ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยื่นขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และยังเลือกลงทุนในพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีคำขอรับการส่งเสริม รวม 60,362 ล้านบาท

เมื่อการลงทุนไทยยังเดินหน้าภายใต้แรงขับเคลื่อนจากทุกองคาพยพของรัฐบาล ภารกิจของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในการล็อกเป้านักลงทุนที่เพียบพร้อมทั้งเทคโนโลยีและรักษ์โลกมากๆ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่นับจากนี้ “ผู้ว่าการวิริศ” จะต้องขับสู้อย่างเต็มที่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image