รายงานหน้า 2 : สแกนศก.ไทยปัจจัยลบรุมเร้า แนะตรึงราคาพลังงาน ปลุกเครื่องจักรท่องเที่ยว

รายงานหน้า 2 : สแกนศก.ไทยปัจจัยลบรุมเร้า แนะตรึงราคาพลังงาน ปลุกเครื่องจักรท่องเที่ยว

สแกนศก.ไทยปัจจัยลบรุมเร้า

แนะตรึงราคาพลังงาน

ปลุกเครื่องจักรท่องเที่ยว

หมายเหตุ ความเห็นจาก รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง และนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่มีปัจจัยลบต่างๆ พร้อมข้อเสนอถึงรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

Advertisement

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ปัญหาเรื่องของราคาพลังงาน อาหาร ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดในปีนี้มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นถึง 4-5% ซึ่งเป็นส่วนที่จะไปกระทบกับกำลังซื้อ ต่อมาวิกฤตปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ช้าลง เพราะฉะนั้น 2 ปัจจัยนี้เป็นตัวอธิบายว่าเรื่องของการส่งออก อาจจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม คิดว่าการส่งออกของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ อีกตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นี้ เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ตอนนี้รัฐบาลมีการลดการล็อกดาวน์ พร้อมกับมีการจัดเทศกาลต่างๆ โดยการท่องเที่ยวในปีที่แล้วแย่มาก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเพียง 4 แสนคน ในปีนี้แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของประเทศจีนมีการล็อกดาวน์ทั้งปี แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาได้ถึงประมาณ 6 ล้านคน รวมทั้งตัวเลขคนไทยเที่ยวในประเทศ แม้จะมีปัญหา แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เป็นอีกตัวที่ช่วย

เพราะฉะนั้น มองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ยังมีการขยายตัวต่อ แม้ว่าจะมีประเด็นปัญหาในเรื่องของราคาน้ำมันตัดทอนกำลังซื้อไปบ้าง แต่อาจจะไม่ได้เข้มแข็ง แต่ต้องยอมรับว่าการขยายตัวยังเป็นบวกอยู่ เพราะฉะนั้นปีนี้ทั้งปีแม้ว่าจะมีปัญหาความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องโรคโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ 2.5-3%

ทางรัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตต่างๆ แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่ได้สูงขึ้นมากนัก แต่ราคาน้ำมัน ราคาอาหาร เป็นตัวที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้อแรกที่ต้องทำคือ พยายามดูแลราคาพลังงาน ต้องคุมราคาให้ดีที่สุด ต้องบริหารราคาอย่าให้สูง

ข้อที่ 2 ต้องให้การช่วยเหลือเป็นไปตามกลไกตลาด ในลักษณะที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ที่สำคัญต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน เป็นหัวใจหลักที่สำคัญ

ข้อที่ 3 เรื่องของเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า จะเห็นได้ชัดว่าปีที่แล้วจีดีพีไทยบวกไปได้ 1.6% จากปี 2563 ที่ติดลบไป 6.1% แต่ปีนี้ขึ้นมา 2% ก็ยังช้ามาก เพราะฉะนั้นมาตรการทางภาครัฐต้องยังคงอยู่ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือลดเงินจ่ายประกันสังคม มาตรการพวกนี้จะต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเศรษฐกิจที่ฟื้นช้า อย่าให้ลามไปถึงสังคม ซึ่งจะกระทบกับทางการเมืองได้

ต่อมา เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวจริงแต่ช้าลง และไทยก็ฟื้นตัวช้า มาตรการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งขึ้น ที่ผ่านมา 2-3 ปี ใช้ตัวนี้น้อยมาก เพราะไปใช้เรื่องของการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท กว่า 60-70% ในการช่วยบรรเทา ตัวกระตุ้นมีเพียงส่วนน้อย

เพราะฉะนั้นปีนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางการคลังในการช่วยกระตุ้นอีกส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ในขณะที่การประคองต้องมีมาตรการการเงินการคลังช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องราคาพลังงาน ราคาอาหาร รัฐบาลช่วยพยุงพวกนี้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นปัญหาทางสังคมที่รุนแรงขึ้น เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปีนี้จะอยู่ในระดับ 89-90% ของจีดีพี ถ้าดูตัวเลขหนี้มีการเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีก็ยังคงอยู่ เพราะจีดีพีมีการปรับเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องแก้จุดอ่อนเรื่องตรงนี้ด้วย

ส่วนภาคเอกชน ข้อแรกต้องปรับปรุงเรื่องของความต้องการด้านห่วงโซ่อุปทานให้มีความเพียงพอ ต้องมาดูเรื่องการจัดหา ที่ผ่านมาการจัดหาตัวเก่าอาจจะใช้ไม่ได้ ต่อมาต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขัน ที่สำคัญในเรื่องของต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้นกำลังซื้อน้อยลง เพราะฉะนั้นการพัฒนาประสิทธิภาพเป็นหัวใจที่สำคัญ อีกทั้งโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ภาคเอกชนต้องนำเรื่องของเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้งด้านไอที ด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวช้า แต่ถ้าเรามีการหาข้อมูลลูกค้าเข้าสู่เป้าหมายได้ตรงจุด ถ้าเราเจาะลูกค้าให้ลึกในประเทศต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถขยายตัวทางตลาดได้

ต้องยอมรับว่าในภาวะนี้เรามีจุดแข็ง ด้านการส่งออกอาหาร ผลิตผลทางการเกษตร แม้ว่าราคาสูงขึ้นก็ตามแต่ยังเป็นทางออกของประเทศไทย อย่างพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานที่ต้องพยายามมีการจัดหาให้มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดจากการขยายตัวตรงนี้

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในประเทศ อาทิ เรื่องราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ ราคาค่าไฟปรับตัวสูง เงินเฟ้อพุ่ง รวมไปถึงค่าแรงที่เตรียมปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ทางภาคเอกชนได้เตรียมแผนรับมือไว้บ้างแล้ว เช่น เรื่องการหาแหล่งพลังงานทดแทน โดยการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงงาน ในตอนนี้ หลายบริษัทเริ่มมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีรวมไปถึงหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาใช้งานเพื่อเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว และเข้ามาเสริมในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ ทางภาคเอกชน เตรียมจัดหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ และเชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก จะสามารถปรับตัวข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้ ถ้ามีการบริหารจัดการในแง่ของต้นทุนที่ดี

แต่จากปัจจัยลบต่างๆ เหล่านี้ ในมุมของผู้ส่งออก ที่ตอนนี้ภาคการส่งออกกลายมาเป็นเสาหลักในการฟื้นเศรษฐกิจ มองว่าในช่วงที่เหลือของปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังสามารถไปต่อได้

ถ้าถามถึงปัจจัยบวก ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในช่วงหลังจากนี้ ยังมองไม่เห็นเครื่องมือตัวอื่นนอกจากภาคการส่งออก ซึ่งในปีนี้ สรท.คาดว่าภาคการส่งออกจะโตไม่ต่ำกว่า 5% แต่ในส่วนของเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจตัวอื่น อย่างภาคการท่องเที่ยว ที่เคยเป็นเสาหลักในการผลักดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) รัฐบาลอาจจะต้องเร่งส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อกลับมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วต่อไป

ทั้งนี้ ยังต้องจับตาในเรื่องของเงินเฟ้อว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะปัจจัยนี้มีผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีประเทศไทยด้วย

ขอย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยบวกตัวอื่นนอกเหนือจากภาคการส่งออกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในระยะนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องเร่งมือ ปรับปรุงส่วนที่ติดขัด อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เป็นต้น เพื่อให้มีเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมด้วย

ส่วนเรื่องของข้อเสนอต่อรัฐบาล หลักๆ ทางภาคเอกชน อยากเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน หรือพยุงราคาต่อไปอีก เพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุน และกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากเสนอให้รัฐบาลยืดมาตรการการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานออกไปก่อน แต่ต้องเป็นไปตามงบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่ แต่ภาคเอกชนคาดหวังว่าอยากให้รัฐบาลยืดระยะเวลาไปถึงช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2565 ก็จะเป็นการดี อย่างน้อยก็ช่วยในเรื่องของต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องผลิตสินค้าและต้องส่งมอบในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ในปีนี้ได้ เพราะตอนนี้ภาคเอกชนเองก็รัดเข็มขัดกันเต็มที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรง ที่จะมีการพิจารณาเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายนนี้ จะเป็นอีกปัจจัยที่มีผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะอยู่ในกรอบของเงินเฟ้อ หรือปรับขึ้นประมาณ 3-5% หากเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการยังพอรับมือไหว แต่ถ้าหากมากกว่านี้ก็จะเกิดผลกระทบในเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงอยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำเรื่องอัตราเงินเฟ้อมาพิจารณาในครั้งนี้ด้วย เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image