‘เลขาฯสมช.’ เผย ศบค.เตรียมปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศ จ่อเลิกตรวจเอทีเค-คนไม่ฉีดวัคซีนอาจลดกักตัว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค.ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศปก.ศบค.ว่า
ในที่ประชุม ศบค.วันที่ 22 เมษายนนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอปรับมาตรการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศว่า ศบค.จะพิจารณาข้อเสนอ ที่เป็นแนวทางสำคัญตามที่นายกรัฐมนตรี มอบไว้ โดยเรื่องการเข้าประเทศ ปัจจุบันมี 2 ประเด็นหลัก คือ การกักตัว สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จะปรับให้สะดวกขึ้น เช่นถ้ามีการกักตัวที่เชื่อถือได้มาแล้วก็จะลดจำนวนวันกักตัวลง และเรื่องการปรับระบบเทสต์ แอนด์ โก สำหรับผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งทั่วโลกมีการผ่อนคลายมากแล้ว จะเสนอให้ปรับระบบ ให้นักท่องเที่ยวและคนไทย ที่จะกลับเข้าประเทศได้รับความสะดวกมากขึ้น เราต้องพิจารณาทุกมิติ โดยการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางเข้ามาถึง อาจจะปรับ เนื่องจากพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศมีเปอร์เซ็นต์ลดลง โดยจะหารือว่าการตรวจเอทีเค จะใช้ลักษณะอย่างไร หรือไม่ต้องตรวจเลย
ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิก เทสต์ แอนด์ โก หรือระบบไทยแลนด์พลัส เรารับฟังมาตลอด แต่อยากให้เข้าใจ โดยเฉพาะไทยแลนด์ พลัส ไม่ใช่ระบบที่ไม่ดี ถ้าย้อนไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหากไม่มีระบบนี้ เวลานี้ยังไม่ทราบว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ระบบต่างๆ ก็ต้องปรับ และถ้ามีการปรับระบบเข้าประเทศ จะใช้ไทยแลนด์ พลัส เท่าที่จำเป็น โดยยึดหลักความปลอดภัยเท่าที่ประเมินแล้วว่าเราจะรับได้ และให้เกิดความสะดวกที่สุด
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า หากที่ประชุม ศบค.เห็นชอบการปรับระบบเข้าประเทศ แผนการดำเนินงานจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นที่ต้องขยับ โดยมาตรการที่จะปรับมีทั้งทางอากาศ ทางบก ซึ่งทางบกจะพยายามเปิดด่านทางบกให้ได้ทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการ และจะนำมาพิจารณาในวันที่ 22 พฤษภาคม เช่นเดียวกัน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกันว่าใช้วิธีใดในการเปิด และใช้เงื่อนไขเดียวกับทางอากาศที่มาตรการอาจจะน้อยกว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.จะพิจารณาเรื่องปรับโซนสีพื้นที่ ซึ่งเราประเมินตามเงื่อนไขที่มี และเท่าที่ดูตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อที่ผ่านมา คาดว่าจะพิจารณาปรับโซนสีให้ดีขึ้นในทุกจังหวัด ส่วนมาตรการป้องกันในปัจจุบัน ทั้งประชาชนและสถานประกอบการปรับตัวอยู่กับโควิดได้ดีขึ้น ดังนั้น การปรับโซนสีในหลายจังหวัดที่เป็นสีส้ม จะได้ปรับสถานการณ์ให้ดีขึ้น
เมื่อถามว่า ที่ประชุม ศบค.จะพิจารณามาตรการรับมือการเปิดภาคเรียนเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไร พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า นายกฯให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยวันนี้ (21 เมษายน) ศปก.ศบค. จะคุยเรื่องเงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้ในมาตรการที่ทำให้สถานศึกษามีข้อจำกัดในการให้นักเรียนไปเรียนออนไซต์ (ที่ตั้ง) แบบเต็มจำนวน ซึ่งเราต้องปรับเงื่อนไขให้เรียบร้อย ขณะที่โรงเรียนก็ต้องมีมาตรการรองรับได้อย่างปลอดภัย
เมื่อถามถึงความพร้อมเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ที่จะรองรับการแพร่ระบาดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ปัจจุบันเราดูเรื่องของอัตราการครองเตียง และขีดความสามารถด้านสาธารณสุข แล้วนำมาประเมิน ดังนั้นตัวเลขการจัดอันดับผู้ติดเชื้อ ว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับไหนของโลก หรือของอาเซียน ไม่ใช่มิติที่ครบถ้วนที่จะนำมาพิจารณาเปิดประเทศ และเวลานี้แพทย์ใช้ปัจจัยดูเรื่องเปอร์เซ็นต์เตียงที่เหลือ และการรองรับทางสาธารณสุขมาพิจารณา และสิ่งเหล่านี้ยังมีเพียงพอ
เมื่อถามถึง กรณีที่มีการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อยากให้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่นำร่อง เป็นเมืองที่ใช้ชีวิตปกติ สามารถเปิดหน้ากากอนามัยได้ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการที่จะให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตปกติและโควิดเป็นโรคประจำถิ่น และมาตรการเหล่านี้ยังปรับได้อีก แต่อยากย้ำว่าโควิด ต้องอยู่กับเราอย่างน้อยไปอีก 1 ปี ดังนั้น มาตรการสำหรับคนที่ติดโควิดแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ประกอบอาชีพได้ คือเราต้องปรับตัว ป้องกันตัวเองโดยสวมหน้ากากอนามัย ที่จำเป็นเพราะเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ในการป้องกัน และยังต้องรักษาระยะห่างเท่าที่จำเป็น ขณะที่สถานประกอบการต้องใช้มาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง และสุดท้ายคือขีดความสามารถรองรับด้านสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้จะเป็นหัวใจให้เราอยู่กับโควิดได้
เมื่อถามย้ำว่า จะมีการพิจารณาให้ถอดหน้ากากเหมือนบางประเทศหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เรื่องนี้แพทย์ประเมินต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่มีนักท่องเที่ยวบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัยตามสถานที่ท่องเที่ยว ได้ให้ทุกหน่วยงานช่วยรณรงค์ ตักเตือนและทำมาต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค VUCA มุ่งเน้นการดำเนินงาน 4 ส่วน ได้แก่ V-Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้ 100 ล้านโดส U-Universal Prevention ให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด C-COVID Free Setting ร้านค้า สถานประกอบการใช้มาตรการพื้นที่ปลอดโควิด-19 และ ATK ใช้ชุดตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง