ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ตีตกคำร้องรวยผิดปกติ ‘อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง’ บิ๊ก ขรก.พัวพันจำนำข้าว

‘ป.ป.ช.’ มติเอกฉันท์ ตีตกคำร้องคดีรวยผิดปกติ ‘อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง’ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ จำนวน 8 เสียง (มีกรรมการ ป.ป.ช. 1 รายมิได้เข้าร่วมประชุม) ยกคำร้องกล่าวหา นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ หรือนายอัฐฐิติพงษ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว หรือผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

โดยกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสืบเนื่องจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85 (1) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้า หรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ

ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น

และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1

Advertisement

ประกอบกับต่อมาปรากฏข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แจ้งว่าบริษัทอาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัท สิราลัย จำกัด เข้ามาเป็นบริษัทย่อย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2557 ด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งสำนักงานอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เนื่องจากบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด ได้ถูกชี้มูลว่าร่วมกระทำความผิดในคดีดังกล่าว โดยทรัพย์สินของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด อาจเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต และการนำบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด เข้ามาเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อฟอกเงินที่ได้มาจากการทุจริต

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากการไต่สวนพบว่า นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ หรือนายอัฐฐิติพงศ์ ทีปวัชระ มีบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 4 แห่ง มียานพาหนะ จำนวน 2 คัน มีที่ดิน จำนวน 1 แปลง สำหรับคู่สมรสมีบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 4 แห่ง มียานพาหนะ จำนวน 2 คัน มีที่ดิน จำนวน 6 แปลง

จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ หรือนายอัฐฐิติพงษ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว หรือผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นมากผิดปกติ หรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ หรือนายอัฐฐิติพงศ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าวหรือผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว สังกัดกรมการค้าต่างประเทศ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้การไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ ผู้ถูกกล่าวหาที่พัวพันในคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น แบ่งเป็น 2 ชุด ได้แก่

1.ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นนักการเมือง ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์​

2.ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ

ดังนั้น กรณีของนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง ถือเป็นรายแรกที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกในข้อกล่าวหานี้ ส่วนรายอื่นยังอยู่ระหว่างการไต่สวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image