ปักธงแดง ตั้งรูป ‘วัฒน์’ แห่รำลึกล้นอนุสรณ์ 14 ตุลา ลูกสาวสะอื้นไห้ ‘พ่อยังมีชีวิตผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ’

ปักธงแดง ตั้งรูป ‘วัฒน์’ แห่รำลึกล้นอนุสรณ์ 14 ตุลา ลูกสาวสะอื้นไห้ ‘พ่อยังมีชีวิตผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัยวัฒน์ วรรลยางกูร โดยมีการเคลื่อนขบวนรูปวัฒน์ และธงแดง วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน ก่อนถึงอนุสรณ์สถานในเวลา 09.28 น.

จากนั้น เวลา 09.30 น. ครอบครัววรรลยางกูร วางรูปวัฒน์ ณ ฐานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมพวงมาลัย 3 พวง มีรูปนกพิราบประดับด้านบน ก่อนปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่ออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมบางส่วนร่วมกันผูกธงแดงติดกับธงชาติ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันติดป้ายผ้า รอบอนุสรณ์สถาน

(อ่านข่าว เริ่มแล้ว! รำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ รัวกลองชูภาพแห่รอบอนุสาวรีย์ ปชต. ลั่นสานอุดมการณ์ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน)

จากนั้น เวลา 09.40 น. นางอรวรรณ นารากุล ชมรมโดมรวมใจ อดีตกรรมการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2518 กล่าวนำเข้าสู่พิธีไว้อาลัย

Advertisement

โดย น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก อ่านประวัติวัฒน์ วรรลยางกูร ความตอนหนึ่งเล่าถึงที่มาของเพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ซึ่งแต่งโดยวัฒน์ ปี 2524 มีการออกคำสั่งที่ 66/2523 วัฒน์ออกจากป่า พร้อมนักศึกษา จากนั้นเข้าสู่การเป็นนักเขียน รวมถึงสร้างงานวรรณศิลป์ ทั้งเพลงและกวี จากนั้นรับหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางเครือข่าย 6 ตุลา ปี 2549 ต่อต้านรัฐประหารร่วมกับมวลชนคนเสื้อแดงอย่างเข้มข้น

ด้าน นายอภินันท์ หรือ ซิดนี่ย์ สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ พิธีกร กล่าวต่อว่า ปี พ.ศ. 2550 วัฒน์ ได้รับรางวัลศรีบูรพา ต่อมา ตั้งวงดนตรีเพื่อชีวิต “วงท่าเสา” ไปจนถึงการจัดงานรำลึก 6 ตุลา

Advertisement

จากตุลา 2556 เพียง 6 เดือน เกิดการออกคำสั่งเรียกวัฒน์รายงานตัว วัฒน์อารยขัดขืน และลี้ภัย จึงมีการออกหมายจับ ม.112 และอื่นๆ นับเป็นเวลา 8 ปีที่ลี้ภัย แต่ยังคงแนวทางสู้ วัฒน์เดินทางไปอาศัยฝรั่งเศสในฐานะพลเมือง และได้รับการดูแลสวัสดิการอย่างดี จนวาระสุดท้าย แม้วัฒน์จะจากไป แต่เจตนารมณ์และอุดมการณ์จะยังคงอยู่ ไม่เสื่อมคลาย

จากนั้น เวลา 09.51 น. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ ส.ส.เจี๊ยบ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ใกล้ชิดครอบครัว, นายอดิศร เพียงเกศ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะมิตรร่วมรบ และ นายวุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ ประธานเครือข่ายเดือนตุลา ร่วมจุดเทียนแดง 3 เล่ม หน้ารูปสหายร้อย ท่ามกลางเสียงไวโอลิน บรรเลงเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ขับกล่อมผู้ร่วมกิจกรรม ก่อนร่วมกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 2 นาที เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้วายชนม์ ท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ ราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ทะลุฟ้า และ We volunteer

จากนั้น มีพิธีมอบชุดทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย หรือ คปท. ซึ่งพิธีกรระบุว่า จะต้องผ่านการประเมินในหลายด้านจึงจะได้สวมใส่ ประกอบด้วยกางเกง เสื้อ และหมวกดาวแดง

จากนั้น เวลา 09.57 น. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวไว้อาลัย ความตอนหนึ่งว่า อย่างน้อยที่สุด 3 ปีสุดท้ายของวัฒน์ ได้ใช้ชีวิต ณ สถานที่ที่มีเสรีภาพ แม้น่าเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสหนังสือเล่มสุดท้าย แต่จากไปในดินแดนเดียวกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ การไม่จำนนต่อผู้มีอำนาจ มีราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตและอิสรภาพมากมาย
จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ที่วัฒน์เขียน ยังวนเวียนซ้ำซาก ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเขียนเมื่อวานนี้

“ตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน”

ในปี พ.ศ.นี้ไม่มีป่าเขาลำเนาไพร แต่วัฒน์คงยินดีว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ กล้าสงสัย กล้าตั้งคำถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่วัฒน์รอคอยตลอดชีวิต รวมทั้งกฎหมายที่ไร้ความปรานี อย่างมาก ม.112 ที่ไม่เคยมีใครแตะต้อง กำลังถูกผลักดันเข้าสภา เพื่อแก้โทษขั้นต่ำและไม่ให้ใครก็ได้สามารถฟ้องผู้เห็นต่างทางการเมือง ยังดีใจที่พี่วัฒน์ได้รับทราบเรื่องนี้

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า การสนทนาระหว่างตนกับวัฒน์เกิดขึ้นในปี 2564 เกิดขึ้นเมื่อพี่วัฒน์รักษาตัวที่ฝรั่งเศส ยังมีเสียงหัวเราะแจ่มใส พี่วัฒน์ได้พร่ำบอกถึงความภูมิใจในความสำเร็จของลูก คำสัญญาที่ว่าจะไปรับพี่กลับบ้าน ไม่สามารถเป็นจริงได้ แต่สิ่งที่เผด็จการต้องการ คือ ‘วัฒน์ถูกหลงลืมในสังคม’ แต่ทำไม่สำเร็จ วัฒน์ จะสิงสู่ หลอกหลอนเผด็จการไปชั่วกับชั่วกัลป์ ในบทกวี เรื่องสั้น งานเขียน ภาพยนตร์ วัฒน์จะไม่มีวันหายจากไป” นางอมรัตน์กล่าว และว่า

“วันที่พี่วัฒน์เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตนได้เอาใจช่วย จนย้ายมาฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฝ่าอันตรายขึ้นไปสู่ประเทศข้างบน การย้ายที่อยู่หลายที่ ได้ทราบว่าพี่วัฒน์ยังคงมีหัวใจที่แข็งแกร่ง คือสิ่งที่อยากบอก วัฒน์อยู่ในทุ่งนา ในเพิงพักที่ไม่มีผนังกั้น ตอนแรกยังมีกำลังใจดี แต่เมื่อมีการอุ้มหายอุ้มฆ่า กำลังใจวัฒน์ตกหล่น และบั่นทอนวัฒน์ที่ควรจะอยู่ยืนยาวกว่านี้

ความยิ่งใหญ่ไม่ใช่วันประกาศความสำเร็จ แต่เกิดตั้งแต่ที่ทุกคนก้าวเดินออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย ขอให้พี่วัฒน์ไปรอ วันกองทัพประชาชนประกาศชัย รอฉลองความสำเร็จไปกับพวกเรา” นางอมรัตน์กล่าว

จากนั้น น.ส.วจนา วรรลยางกูล หรือ เตย บุตรสาวของวัฒน์ กล่าวไว้อาลัย ความว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมรำลึกถึงคุณพ่อ งานนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อแสดงความอาลัยต่อครอบครัว วรรลยางกูร แต่เพื่อรำลึกถึงชีวิตของวัฒน์ สำหรับบทบาทสาธารณะ ไม่ว่าอาชีพนักเขียนที่ทุ่มเทชีวิต หรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มองไปข้างหน้าเพื่อเป้าหมายที่วาดหวัง และสร้างแนวรบวัฒนธรรมให้แข็งแกร่งขึ้น

“ในฐานะผู้ชายที่ซื่อตรงต่อตัวเอง ยอมกลืนเลือดแทนน้ำลาย เป็นบทพิสูจน์ถึงความยืนยันความมั่นคงทางความคิดของคุณพ่อ จนวาระสุดท้าย ลูกนักเขียน ไม่มีใครคาดคิดว่าพ่อจะไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ พ่อต่อสู้ทางความคิดด้วยการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายในประเทศนี้ หวังเห็นสังคมดีขึ้น มนุษย์เท่าเทียมแท้จริง อยู่ในประเทศโดยได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถ้วนหน้า จนต้องลี้ภัย

“วัฒน์ จะดำรงอยู่ผ่านผลงาน ผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ หนังสือที่ถูกหยิบมาอ่านใหม่ ผ่านความคิดของผู้คน ที่หวังเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและความฝัน ความหวัง ที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย” น.ส.วจนากล่าว และว่า

“แด่พ่อ คนธรรมดาที่ลูกเคารพสุดหัวใจ” ก่อนสะอื้นไห้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image