‘ไอดา’ เปิด ‘ต้องเนรเทศ’ ผลงานสุดท้าย ‘วัฒน์’ เผยต้นฉบับยิ่งใหญ่กว่าที่หวัง ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนแพ้แต่ยังสู้’

‘ไอดา’ เปิด ‘ต้องเนรเทศ’ ผลงานสุดท้าย วัฒน์ วรรลยางกูร เผยต้นฉบับยิ่งใหญ่กว่าที่หวัง ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนแพ้แต่ยังสู้’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการเชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา หลังอนุสรณ์สถานฯ สี่แยกคอกวัว มีการฉายภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

จากนั้น เวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ร่วมฟังเสวนาคับคั่ง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ร่วมงานทุกราย ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมฟังเสวนาด้วย

ในตอนหนึ่ง น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม “กองทุนราษฎรประสงค์” กล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายของสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือของวัฒน์ คือ ‘ต้องเนรเทศ’ โดยโชว์ปกจำลองหนังสือเล่มสุดท้ายของวัฒน์ที่จะพิมพ์ 2 ปก ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายนนี้

Advertisement

น.ส.ไอดากล่าวว่า เมื่ออ่านต้นฉบับของนายวัฒน์จบลงในท่อนแรกที่ว่า “ไม่กลับ การลาลับ คงอยู่” รู้สึกไม่สบายใจและหวั่นใจ เพราะไม่ทราบว่าจะขอร้องอย่างไรว่าอย่าเขียนราวกับเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต แต่ครั้งสุดท้าย คือ หมุดหมายของการบรรลุบั้นปลายว่าจะถึงชัยชนะ หมายถึงการพ้นจากภาวะ “ครั้งแล้วครั้งเล่า” เพราะคือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดั่งแรงใจ แต่ที่ตลกร้ายคือเรามักจะไม่ได้เห็นมัน

น.ส.ไอดายังกล่าวถึงสาเหตุที่วัฒน์กลับมาร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดงว่า การอุทิศตนอย่างเข้มแข็งของคนเสื้อแดงทำให้วัฒน์กลับมามีเรี่ยวแรงพร้อมทุ่มเทอีกครั้ง ซึ่งการที่นักเขียนพูดอะไรอย่างนี้ไม่ได้เท่นัก เมื่อเสื้อแดงยังไม่ใช่ความก้าวหน้า ตนพยายามให้วัฒน์เขียนงานใหม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง แต่วัฒน์ไม่มีเวลาเขียน เพราะต้องลี้ภัย สำหรับต้นฉบับที่ได้รับมาวันนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่หวังไว้ วัฒน์ลดฐานะจากพระเอกเป็น ‘คนที่แพ้แต่ยังสู้ต่อ’

น.ส.ไอดากล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมจากเส้นทาง จากหุบเขา ถึงปารีส นกปีกหัก บทที่ 2 คือ บ้านท่าเสา กาญจนบุรี ที่อบอวลด้วยความรักความผูกพัน ที่ไม่ใช่เพียงที่พักเหนื่อย แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต บทที่ 3 4 5 คือมหากาพย์ช่วงลี้ภัย ในภาวะที่ไม่อาจกำหนดอะไรได้ ‘เนินลำโชย’ เขาบรรยายชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่ 2 สะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสา และจำลองในบ้านที่ไม่ใช่ ที่ไม่เหลือใคร นอกจากลำพัง สำหรับบทที่ 9 กล่าวถึงดินแดนฝรั่งเศส ที่ให้สิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ

“การออกมารอบนี้ของเขา ไม่ใช่การเข้าป่าดูทัศนศึกษา เขาไม่หันหลังกลับ แต่ยืนยันความเป็นอิสระที่จะไม่กลับมาอยู่ในกะลา ซึ่งในภาวะที่เปราะบาง อ่อนไหว เขาเปลี่ยนจาก ผม เป็น ฉัน” น.ส.ไอดากล่าว

จากนั้นอ่านเนื้อหาที่วัฒน์เขียนไว้ในหนังสือเล่มสุดท้าย ใจความกล่าวถึงตัวตนความเป็นนักเขียนที่ยังคงประคองไว้ด้วยมิตรน้ำหมึกที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือ ความฝันไปให้ ด้วยสำนึกเสรีชนร่วมอาชีพ และนักมนุษยนิยม โดยไม่ต้องป่าวประกาศ หนึ่งในนั้นที่ต้องเอ่ยชื่อคือ บินหลา สันกาลาคีรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายมีการอ่านบทกวี ‘เมื่อฟ้าค่ำ’ เพื่อแสดงความเคารพต่อวัฒน์ วรรลยางกูร ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้ร่วมเสวนาดังกระหึ่มห้องประชุม และจบช่วงเสวนาในเวลา 16.10 น.

“ต้องเนรเทศ” ผลงานสุดท้ายของวัฒน์ วรรลยางกูร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image