09.00 Index ประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ ต่อ ‘รัฐประหาร’

พลันที่ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ “เปิดตัว” เข้าสู่ “สาธารณะ”สถานะก็เริ่ม “แปรเปลี่ยน”
แปรเปลี่ยนไม่เพียงแต่ “ตัวมัน” หากยังส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญ ก่อให้เกิดการพลิกผันและแปรเปลี่ยนในทางสังคมและในทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง
ภาษา “นักวิชาการ” เขาเรียกว่า “พลวัตร”

รูปธรรม 1 ก็คือ “ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือได้ว่าเป็น “ปัญญาประดิษฐ์”ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็มิได้เป็น “เจ้าของ”
อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่อยู่ใน “ฐานะ” ที่จะปกป้องหรือพิทักษ์ไว้โดยไม่มี “การแก้ไข”
เรียกให้เสนาะหูก็ต้องว่าจำเป็นต้อง “ปรับปรุง”

บทเรียนจาก”ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นได้อย่างแจ่มชัด
นั่นก็คือ มิอาจ”รักษา”เอาไว้ได้ เพราะ”ถูกคว่ำ”

น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นยังเป็นการ”ถูกคว่ำ”โดยการส่งสัญญาณมาจากผู้มีอำนาจในการกำกับ ควบคุม “สปช.”
เป็นใคร นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ “รู้”
เป็นใคร ถึง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะไม่ยอม “เปิดเผย” แต่ชาวบ้านไม่ว่าบ้านนี้หรือบ้านอื่น “รู้”

Advertisement

รูปธรรม 1 ซึ่งน่า”หวาดเสียว”ยิ่งกว่า
นั่นก็คือ “ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังกลายเป็น “สายล่อฟ้า”ในทางการเมือง
“ประชามติ” นั่นแหละคือ “ตัวจุดชนวน”

มีความพยายามจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น “คสช.” ไม่ว่าจะเป็น “รัฐบาล” พยายามจำกัดกรอบ
ให้อยู่เฉพาะที่”ร่าง”รัฐธรรมนูญ-เท่านั้น
แต่นับจากตัว”ร่าง”รัฐธรรมนูญปรากฏขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม เป็นต้นมา สภาพของมันดำรงอยู่อย่าง “สถิต” กระนั้นหรือ
ไม่ใช่หรอก

มันส่งผลสะเทือนและแสดง”อิทธิฤทธิ์”ออกมาเหนือความคาดหมาย หลายเรื่อง หลายกรณี
มิเช่นนั้น “ผบ.ทบ.”คงไม่ถูกเรียกเข้า”ทำเนียบรัฐบาล”
มิเช่นนั้น บรรดา”โฆษก”น้อยใหญ่ใน “คสช.” คงไม่ออกมาข่มขู่ คุกคามอย่างชนิด “รายวัน”
ถึงขั้นระบุว่า อาจมีการ”เชิญตัว” บางคนเข้า “ค่ายทหาร”
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ถูก “หวย” มาแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ถูก”เฝ้ามอง”อยู่แล้ว
ตรงนี้เท่ากับเป็น การ”ตีปลาหน้าไซ”

Advertisement

เป้าหมายอย่างแท้จริงก็คือ ความต้องการ”ปิดปาก” ความต้องการมิให้เกิดบรรยากาศแห่ง”การวิพากษ์วิจารณ์”
มีแต่เพียง “รด.จิตอาสา” เท่านั้นที่พูดได้
มีแต่เพียงในส่วนของ “คณะกรรมการ” ซึ่งทำหน้าที่”ร่าง”รัฐธรรมนูญเท่านั้นที่พูดได้

เหล่านี้คือ การยืนยันต่อ “ผลสะเทือน”
เป็นผลสะเทือนอันสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการ”ประชามติ”มิได้จำกัดกรอบแต่เพียงตัว “ร่าง”รัฐธรรมนูญ
หากแต่ “ขยาย” ออกไปกว้างขวาง มากยิ่งขึ้น
กลายเป็นเรื่องทาง “การเมือง” กลายเป็นเรื่องทาง “สังคม” นำไปสู่การะสะท้อนความรู้สึกต่อ “รัฐประหาร”
เท่ากับ “ประชามติ” ต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image