‘นิกร’ เผยข้อสรุป คณะทำงานแก้ไพรมารีโหวต จ่อชงเข้า ‘กมธ.กม.ลูก’ 28 เม.ย.นี้

แฟ้มภาพ

คณะทำงาน กม.ลูก เคาะแก้ไพรมารี เปิดรับฟังความเห็นจากสาขา-ตัวแทนพรรค ให้อำนาจ ‘กกต.’ กำหนดหลักเกณฑ์การฟังความเห็น พร้อมเพิ่มบทบาท คกก.สรรหา เสนอความเห็นประกบชื่อ ให้ ‘กก.บห.’ เคาะ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่. …) พ.ศ. … รัฐสภา เปิดเผยว่า ตนฐานะคณะทำงานเพื่อสรุปและปรับปรุงเนื้อหา ได้พิจารณาตามที่ กมธ.มอบหมายให้พิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขไพรมารีโหวต ที่ได้ร่วมประชุมกับ กมธ. โดยมีข้อสรุปในหลักการสำคัญ คือ 1.ปรับรายละเอียดที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้นจากตัวแทนสมาชิกพรรคประจำเขตเลือกตั้ง ไปเป็นการรับฟังความเห็นของสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพียง 1 แห่ง 2.หลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังให้ความเห็นของสมาชิกต่อรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด เพื่อเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค

นายนิกรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คณะทำงานยังได้ปรับปรุงเนื้อหาโดยเพิ่มบทบาทคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิมทำหน้าที่เพียงส่งชื่อ ส่งผลคัดเลือกให้คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคสรุปเป็นมติ เป็นให้คณะกรรมการสรรหาสามารถให้ความเห็นประกอบการพิจารณาให้กับ กก.บห.พรรคได้ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาปรับปรุงการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยพรรคการเมืองอาจตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้เมื่อมีสมาชิกพรรคเกิน 100 คน ต้องตั้งเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดของทุกเขตเลือกตั้ง ส่วนการตั้งตัวแทนพรรคนั้น ต้องให้สมาชิกพรรคในจังหวัดนั้น เป็นคนเลือกตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง สำหรับหน้าที่ของตัวแทนพรรคการเมืองยังหมายถึงการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคอื่นๆ นอกเหนือจากการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ขั้นต้น

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

“การปรับปรุงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความเห็นเพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.ขั้นต้น ที่กำหนดให้ กกต. เป็นผู้เขียนวิธีการนั้น เป็นไปตามข้อทักท้วงของวุฒิสภาที่กังวลว่าจะทำให้การรับฟังความเห็นประชาชนได้ไม่กว้างขวาง อีกทั้งการปรับเนื้อหานั้นได้ฟื้นบทบัญญัติตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. เขียนไว้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการปรับเนื้อหาเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตเป็นเพียงข้อกำหนดขั้นต่ำ แต่หากพรรคการเมืองใดที่มีความพร้อมและสามารถทำไพรมารีโหวตโดยสมบูรณ์ได้ ก็สามารถเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคได้ โดยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้ปิดกั้น” นายนิกรกล่าว

นายนิกรกล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะมีการกำหนดบทเฉพาะกาลหรือไม่นั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ประกาศใช้ พรรคการเมืองที่ไม่มีสาขาพรรคประจำจังหวัด ให้กำหนดให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และกรณีที่จังหวัดใดที่มีสาขาพรรคและมีตัวแทนประจำจังหวัด ให้ตัวแทนประจำจังหวัดสิ้นสภาพไป เพราะตัวแทนพรรคการเมืองนั้นจะมีซ้อนกับสาขาพรรคไม่ได้

ADVERTISMENT

นายนิกรกล่าวอีกว่า สำหรับข้อสรุปของคณะทำงานนั้น จะเสนอให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณาในวันที่ 28 เมษายน โดยยังไม่ลงมติ เพราะการชี้ขาดประเด็นนี้ คาดว่าจะกำหนดนัดให้ กมธ. ลงมติในวันที่ 5 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านกลุ่มมาตราเกี่ยวกับการไพรมารีโหวตแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะเหลือไม่กี่มาตรา และเชื่อว่าจะแล้วเสร็จได้ทั้งฉบับก่อนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก

เมื่อถามถึงกรณีที่บางพรรคการเมืองเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งแล้ว ร่างกฎหมายลูกจะคุ้มครองให้ไม่ต้องเข้ากระบวนการไพรมารีหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกตามกฎหมายลูกฉบับใหม่ และกติกาหลักเกณฑ์ที่ กกต.​จะกำหนด แต่ไม่ปิดกั้นว่า กก.บห.พรรคจะต้องส่งผู้สมัครที่เปิดตัวไปแล้ว ไปยังคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการตามกระบวนการกติกาใหม่

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image