โทนี่ แนะ รบ.-ครอบครัว ผุดซอฟต์เพาเวอร์ จากดีเอ็นเอไทย แก้ปัญหายากจนยั่งยืน

โทนี่ แนะ รบ.-ครอบครัว ผุดซอฟต์พาวเวอร์ จากดีเอ็นเอไทย แก้ปัญหายากจนยั่งยืน

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 เมษายน เฟซบุ๊ก CARE • แคร์ คิด เคลื่อน ไทย ได้ไลฟ์สด การพูดคุยกับ โทนี่ วู้ดซัม หรือ นายทักษิณ ชินวัตร ในหัวข้อ ซอฟต์เพาเวอร์ไทย : ฝันให้ไกล ไปให้ปัง!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : โทนี่ ชี้ ‘บิ๊กตู่’ ไม่โง่ แต่เลือกใช้คนโง่ ตอบชัด นัดเจอ ‘บิ๊กป้อม’ หรือไม่

โดย ‘โทนี่’ ระบุว่า บุคคลที่มีเพาเวอร์มากที่สุดในโลกวันนี้ ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ส่วนตัวยกให้ อีลอน มัสก์ ไม่ใช่เฉพาะความร่ำรวย แต่มีความคิดที่ล้ำสมัย อย่างที่หลายคนทราบว่า ล่าสุด เขาได้ซื้อทวิตเตอร์ที่มูลค่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเขาบอกเลยว่า ต้องการเห็น Freedom of speech คือ เสรีภาพในการพูดคุย ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประชาธิปไตย และจากนี้จะเปิด อัลกอริทึม หรือขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผล ให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจ

ส่วนตัวคิดว่า การที่ อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์นี้ เพราะต้องการข้อมูลหรือดาต้า จากผู้ใช้งานที่ใช้เสรีภาพในการพูดคุยในทุกด้าน เพราะปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ว่าคนในโลกนี้คิดอะไร คนอายุเท่านี้คิดอะไร และนำมาประกอบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ไทยจะต้องเตรียมตั้งรับให้ดีว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการพูด และเป็นการบังคับให้ทุกคนในโลกนี้ ต้องยอมรับประชาธิปไตย

Advertisement

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เขาจะดาวน์โหลดความจำในสมองเรา รวมถึง Prosperity เข้าไปที่หุ่นยนต์ หรือโรบอตที่มีลักษณะคล้ายคน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างมาก และคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกไม่นานเพราะปัจจุบันเอไอพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมองว่าการเข้าหารือกับ อีลอน มัสก์ จะมีประโยชน์มากกว่า การหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลไทยตื่นเต้นอย่างมาก แต่เชื่อว่าไม่มีประโยชน์

เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เกิดขึ้นจาก โจเซฟ เนย์ (Joseph S. Nye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งตอนหลังมาเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม โดยเขียนขึ้นเมื่อปี 2004 ความทันสมัยยังไม่เท่าทุกวันนี้ เป็นเรื่องของการสร้างความดึงดูดใจ เชื้อเชิญ หรือเย้ายวนใจคน ให้ผู้อื่นตอบสนองตามความต้องการ โดยกรอบใหญ่เริ่มต้นที่รัฐบาล ซึ่งมีสมบัติคือวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน อีกทั้งรัฐบาลจะต้องมีค่านิยมทางการเมืองที่ส่งเสริมให้คนมาเชื่อ และชื่นชอบในสิ่งที่มีอยู่

Advertisement

ถัดมาคือ นโยบายการต่างประเทศ อาทิ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศเกาหลีใต้มีความพยายามผลักดันการสร้างภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลี โดยระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เมื่อปี 2001 มีการเชิญชวนประเทศในอาเซียนเข้าร่วม จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีซอฟต์เพาเวอร์เป็นอันดับ 11 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 เป็นของสหรัฐอเมริกา

การสร้างซอฟต์เพาเวอร์จะต้องทำตั้งแต่ระดับบน โดยระดับร่างเป็นตัวบุคคลที่จะขับเคลื่อน เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างสิ่งที่มีอยู่ให้เข้มแข็งไปสู่ที่ประทับใจของโลก อย่างทุกวันนี้ เรามีซอฟต์เพาเวอร์ตัวหนึ่งแน่นอน คือความเป็นคนไทย ที่มีนิสัยต้อนรับแขก ส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยว

 

“ทำอย่างไรถึงให้แต่ละครอบครัว เชื่อว่าในหนึ่งคนจะต้องมีความสามารถสักหนึ่งอย่าง และนำมาพัฒนา แทนที่จะให้คนไทยทุกคนไปอยู่ในเซ็กเตอร์ของการใช้แรงงาน ทั้งที่คนไทยมีความสามารถด้านทักษะ เห็นได้จากสินค้าโอท็อปที่มีความก้าวหน้า ดังนั้น จึงควรใช้วิธีการค้นหา โดยให้ทุกครอบครัวสร้างให้ได้อย่างน้อย 1 คน และใน 1 คนนั้นจะเป็นผู้ที่มีรายได้สูงกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้สามารถดูแลครอบครัวได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่คนอื่นจะได้รับการพัฒนาไปด้วย เพิ่มรายได้ให้กับคนกลุ่มดังกล่าวได้ อย่างน้อย 1 ล้านครอบครัว ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งซอฟต์เพาเวอร์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะที่ลงไปยังฐานราก เพื่อเอาประชากร อาศัยทักษะจากวัฒนธรรม หรือดีเอ็นเอ ที่ฝากไว้ในประเทศไทย มาเจียระไนใหม่ให้เกิดเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก อย่าง มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล และ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล แม้จะอยู่ภายใต้ซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีใต้ก็ตาม” โทนี่กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image