บทนำมติชน : กติกาประชามติ

ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ล่าสุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. น่าจะได้ประเด็นความเห็นมาหลากหลายแล้ว ทั้งจากกลุ่มนักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ และเขียนบทความออกมา ทั้งนักการเมืองที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ และเป็นท่าทีของพรรคการเมืองซึ่งทำเป็นรูปเล่มมอบให้ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ประชุมแสดงความคิดเห็น หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ที่เพิ่งอภิปรายแสดงความเห็นไปเมื่อวันก่อน รวมถึงความคิดเห็นจากคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดประเด็นไว้ 11 ข้อ ส่งต่อให้กระทรวงต่างๆ ทำความเห็นกลับมา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นศูนย์กลางรับเรื่อง และนำเสนอให้แก่ กรธ. ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตามกำหนด

ขณะเดียวกัน นายวิษณุได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งตามกำหนดโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คาดว่าการประชุมดังกล่าวจะมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งกระบวนการเพื่อให้การทำประชามติผ่านพ้นไปได้โดยไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดกฎหมาย ตารางเวลาการทำงานที่ต้องประชาสัมพันธ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ การจัดการหย่อนบัตร การนับคะแนน และอื่นๆ ซึ่งเท่าที่รับฟังมา ปัญหาการทำประชามติยังวนเวียนอยู่ที่กติกาที่จะใช้ในการทำประชามติ ซึ่งมีเนื้อหาบางประการทำให้แต่ละฝ่ายมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน

กติกาการทำประชามติถือเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากผู้ที่จะไปลงประชามติ นับตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ การให้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ การให้โอกาสรับฟังข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ รวมทั้งข้อทักท้วงเรื่องการวัดผลการทำประชามติ ในประเด็นการออกเสียงให้มากกว่ากึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิ” หรือ “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” ซึ่งถือเป็นหัวใจของการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อให้โรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ไม่สะดุด หรือหากจะสะดุดเพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ขอให้เป็นไปตามคะแนนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิ มิใช่เกิดจากปัญหาเทคนิค หรือสะดุดเพราะเหตุจากกติกาคลุมเครือไม่ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image