‘อุตตม’ เชื่อแนวทางกระจายอำนาจ แนะรัฐพุ่งเป้าท้องถิ่น ส่งเม็ดเงินลงศก.ฐานราก

‘อุตตม’ เสนอมาตรการสร้างรายได้ควบคู่เยียวยา ชง หน่วยงานรัฐท้องถิ่นจัดซื้อพัสดุโดยตรง กระจายเม็ดเงินลงเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงแนวทางการดูแลประชาชนคนไทย ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ว่า สถานการณ์ภาวะต้นทุนราคาพลังงานสูง วัตถุดิบ และสินค้าบริการต่างๆ ปรับราคาแพงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลงนั้น ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต สำหรับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพประชาชนเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบมาก ในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ชุดมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ครบวงจร เพราะเพียงมาตรการด้านใดด้านหนึ่ง จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง

นายอุตตม กล่าวว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาด้านค่าครองชีพ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เพราะมีเหตุแทรกซ้อน โดยเฉพาะสงครามยูเครน ทำให้การดูแลเศรษฐกิจและปัญหาของประชาชนมีความซับซ้อนและอ่อนไหวเพิ่มขึ้นมาก มาตรการเดิมจึงอาจไม่มีผลได้เช่นดังก่อน ดังนั้นเราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งตนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีชุดมาตรการที่ครอบคลุม โดยเพิ่มมาตรการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการโดยตรงและต่อเนื่องดังต่อไปนี้ 1.การสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงฟื้นฟูเงินทุนให้ผู้ประกอบการ 2.การช่วยให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก เข้าถึงเงินกู้สินเชื่อ และ 3.การเพิ่มปริมาณการค้าโดยใช้ประโยชน์จากตลาดแนวชายแดนให้มากขึ้น

นายอุตตม กล่าวว่า เมื่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันหดหาย จึงมีความจำเป็นต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ขึ้นมา และแหล่งรายได้ใหม่นั้นสมควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนตัวเล็กทั้งพ่อค้าแม่ขาย และเอสเอ็มอี ที่สำคัญเน้นการกระจายแหล่งรายได้นั้นให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานรากให้หมุนเวียนคล่องตัวขึ้น โดยทีมงานสร้างอนาคตไทยได้ประมวลภาพกำลังซื้อในปัจจุบัน พบว่า แม้ในภาพรวมกำลังซื้อจะหดหาย แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้มีกำลังซื้อรายใหญ่อยู่ ประกอบด้วย 1.หน่วยงานราชการ 2.รัฐวิสาหกิจ และ 3.เอกชนรายใหญ่ ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์และอื่นๆ ต่อเนื่อง โดยจากการประเมินคาดว่ามีมูลค่ารวมกันสูงถึงปีละ 3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงธนาคารของรัฐที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้มาตรการมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น พรรค สอท. เชื่อว่า การกระจายอำนาจและโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถดูแลกันเองได้มากขึ้น ภายใต้แนวทางขบวนการปฏิบัติที่ชัดเจนและรัดกุม จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image