พท. วอนรบ.ดูแลค่าครองชีพ หลังสินค้าพาเหรดขึ้นราคา แนะลดกำไร 3 รัฐวิสาหกิจช่วยปชช.

‘เพื่อไทย’ วอนรัฐดูแลค่าครองชีพต้นทาง หลังราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคพาเหรดขึ้นราคา แนะลดกำไร 3 รัฐวิสาหกิจช่วยปชช.

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศตกทุกข์ได้ยากอย่างแสนสาหัส จากการที่รัฐบาลนิ่งเฉย ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ ในภาวะที่ประชาชนตกงาน เรียนจบไม่มีงานทำ มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันรวมมากกว่า 2 ล้านคน

ในขณะที่ในเดือนนี้รัฐทยอยเลิกอุดหนุนค่าพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นลิตรละ 2 บาท ทำให้กระทบกับต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนก๊าซหุงต้มราคาปรับขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง (15 กก.) และจะปรับขึ้นอีกในเดือนมิถุนายนอีก 15 บาท ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ส่วนค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนนี้จนถึงสิงหาคม 2565 จะปรับขึ้นอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท ซึ่งเป็นค่าไฟที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟแต่ยังไม่ถึงครึ่งที่ประชาชนต้องจ่ายต่อจริง ยังรวมไปถึงราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ ที่แพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเกษตรปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนแพงขึ้นทั้งหมด

Advertisement

ปัญหากำลังทับถมรุมเร้าคนไทยให้จนมุม ไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ แม้ทำงานมีรายได้ต่อวัน หรือทำการเกษตร ก็ล้วนต้อง ‘ทำมาเพื่อจ่ายไป’ ซ้ำที่หามาได้ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าอาหารต่อวันด้วยซ้ำ ในขณะที่รัฐบาล คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ มี 2 วิธี ที่สามารถทำได้ทันที คือ 1.ปรับลดกำไรของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 3 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลง .

เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) หลายครั้ง ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ประชาชน แต่ได้ ทำให้กำไรของทั้ง 3 หน่วยงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี โดยพบว่าในปี 2563 กฟผ. มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 31,311 ล้านบาท ในปี 2564 กำไรเพิ่มขึ้น 2,000 กว่าล้านบาท อยู่ที่ 33,486 ล้านบาท ส่วน กฟน. มีกำไรในปี 2562 อยู่ที่ 5,356 ล้านบาท ในปี 2563 กำไรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,922 ล้านบาท ส่วน กฟภ. มีกำไรในปี 2563 อยู่ที่ 9,986 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 5,700 ล้านบาท มาอยู่ที่ 15,694 ล้านบาท กำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ที่ใคร

Advertisement

เพราะทั้ง 3 หน่วยงานไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิธีการรีดเลือดกับปูเพื่อนำเงินที่ได้ส่งเข้าคลังหวังเป็นการสร้างรายได้ให้กับรัฐทางอ้อมในสถานการณ์ที่ประชาชนเดือดร้อนทุกทัวระแหงเช่นนี้ใช่หรือไม่ และ 2.กระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปบริหารจัดการราคาสินค้าที่ปลายทางซึ่งมีราคาสูง ในขณะที่ผู้ผลิต อย่างเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน หรือผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขายส่งสินค้าได้ในราคาที่ต่ำ ถูกกดราคา เรียกได้ว่าตอนนี้เป็นยุค ‘คนผลิตขายจน คนซื้อของแพง’ จึงอยากทราบว่า ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น ตกอยู่ที่ใครกันแน่ เหตุใดยิ่งบริหาร ประชาชนยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น

“รัฐบาลไม่เคยบริหารจัดการราคาสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งที่วิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ ล้วนเกิดจากน้ำมือการบริหารของรัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จนทำให้ของแพงทั้งแผ่นดิน ตอนนี้ประชาชนถูกรัฐทอดทิ้งลอยแพให้มีชะตากรรมที่ต้องพึ่งพากันเองเสมือนไร้รัฐ หากทำได้เพียงเท่านี้ ท่านควรถอยไป ปลดปล่อยชีวิตประชาชนให้เป็นอิสระพ้นพันธนาการจากรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพโดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะลุกฮือ เพราะทนไม่ไหวกับชีวิตที่ถูกกดต่ำ แล้ววันนั้นรัฐบาลอย่าอ้างว่าเป็นความขัดแย้ง แล้วอ้างเหตุให้ทำรัฐประหารอีกครั้ง ” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image