สนธิรัตน์ เสียดาย ไทยผลิตก๊าซได้ลดลงต้องนำเข้า กระทบค่าไฟ ต้องจัดการไม่ใช่ให้ประหยัด

สนธิรัตน์ เสียดาย ไทยผลิตก๊าซได้ลดลง จนต้องนำเข้าเพิ่ม กระทบค่าไฟ ชี้ ต้องคิดเรื่องการจัดการ ใช่แค่บอกให้ ปชช.ประหยัด

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในประเด็นราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อรายจ่าย ข้าวของต่างๆที่แพงขึ้น โดยว่า

“น่าเสียดายที่คนไทย ต้องจ่ายค่าก๊าซแพงในยุคนี้

ไม่ใช่แค่ข้าวของราคาแพงอย่างเดียวนะครับ ค่าไฟก็อาจจะแพงขึ้นด้วย

วันนี้ใครเดินซื้อของที่ตลาดคงพูดมามาคล้ายๆ กันว่า ของแพงขึ้น เกือบทุกอย่างปรับราคาขึ้น ทั้งผักสด ของสด ของแห้ง ไม่รวมอาหารทั้งแกงถุงทำสำเร็จ ร้านตามสั่ง หรือร้านอาหารต่างๆ ก็ปรับขึ้นทั้งนั้น
แต่อีกเรื่องนึงที่ต้องบอกคือ ค่าไฟก็อาจจะแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น ผลคือ ประชาชนอย่างเราต้องจ่ายค่าไฟที่มากขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

ที่ค่าไฟจะแพงขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีข้อมูลว่าปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าประมาณ 60% ซึ่งก็มีมาจากแหล่งในประเทศ การนำเข้า และ LNG

แต่ตอนนี้การผลิตก๊าซของไทยเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตทำให้ปริมาณที่ผลิตได้เองในวันนี้ลดลงไปจากเดิม ทำให้การผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันพึ่งพา LNG เป็นหลัก ต้องเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น อีกทั้ง LNG ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า มีความเสี่ยงหลายด้านที่ต้องบริหาร โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ต้องซื้อเข้ามา
เรื่องปริมาณที่ผลิตได้เองจากแหล่งเอราวัณนี่เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอย่างจริงจังเพราะการลดลงของปริมาณนี่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นนะครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตามสัญญาการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาตินี่ ตามสัญญาแล้วแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิตตามสัญญาคือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ด้วยประเด็นเรื่องการเข้าพื้นที่ล่าช้าเพื่อรับช่วงต่อการผลิตของผู้ผลิตเก่ากับผู้ผลิตใหม่ (ล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี) ทำให้ปริมาณก๊าซที่คาดว่าจะส่งได้ลดลงเรื่อยๆ เพราะแหล่งก๊าซนี่ถ้าไม่มีการเจาะหลุมพัฒนาหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การผลิตลดลงไปตามลำดับ วันนี้ปริมาณการผลิตเท่าที่ได้รับทราบจากข่าวมาก็ได้ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงแรก

Advertisement

เมื่อสมัยที่ผมยังรับผิดชอบบริหารเรื่องนี้ ได้เจรจากับคู่เกี่ยวข้องจนใกล้สำเร็จ ที่จะทำให้การส่งมอบพื้นที่สัมปทานเป็นไปอย่างราบรื่น แต่น่าเสียดายที่เมื่อผมออกมาเรื่องไม่ได้เป็นอย่างที่วางไว้

เท่ากับว่าก๊าซที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าหายไปเฉลี่ย 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบเป็น LNG ก็ประมาณ 2-3 ล้านตันต่อปี ซึ่งก็ต้องนำเข้ามา และด้วยราคาปัจจุบันเป็นราคาที่ต้องซื้อค่อนข้างสูง

ดังนั้น การต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG นี้เอง อาจมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายซึ่งอาจจะแพงขึ้น การบริหารจัดการการนำเข้าเป็นเรื่องที่ต้องคิด ไม่ใช่แค่การบอกให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image