อนุทิน เปิดงานกัญชา จันทบุรี มั่นใจฝีมือเกษตรกรไทย ปั้นกัญชา เป็นพืชศก. ป้อนตลาดโลก(มีคลิป)

‘อนุทิน’ เปิดงานกัญชา ‘จันทบุรี’ มั่นใจฝีมือเกษตรกรไทย ปั้นกัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจ ป้อนตลาดโลก

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคาร 36) ม.ราชภัฏรำไพพรรณี อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมงานประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์เขตสุขภาพที่ 6 จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2565 มีผู้บริหารกระทรวงฯ บุคลากรสาธารณสุข ตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชน ไปจนถึงประชาชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายอนุทินกล่าวระหว่างเปิดงาน ว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายที่กําหนดขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สําคัญของไทย เพราะเป็นหนึ่งในพืชไม่กี่ชนิดที่ใช้ประโยชน์นํามาเป็นยาและอาหารได้ทุกส่วน ทั้งราก ต้น ใบ และดอก ที่คนไทยใช้กันมานาน

Advertisement

การดําเนินงานกัญชาทางการแพทย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ และจะสามารถพลิกโฉมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เห็นได้จากผลงานในปี 2564 แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก

พบว่า ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท นายยืนยง โอภากุล (แอ็ด คาราบาว) แต่งเพลง “หนูกัญชา” ได้เนื้อหา ครบถ้วน บอกทั้งนําไปใช้ด้านสมุนไพร และด้านเศรษฐกิจ เหมือนกับนโยบายที่พวกเราขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านการแพทย์ ดังเนื้อเพลง “รากและต้นใบดอกกัญชา ใช้ปรุงเป็นยา เป็นสมุนไพร ปรุงรสแกงเนื้อแกงไก่แทนผงชูรสเจริญอาหาร อาการทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ยังทุเลาเบาลงถึงหายขาด กัญชามีจารึกในประวัติศาสตร์ว่าไทยแลนด์เป็นชาติที่ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ”

ด้านเศรษฐกิจ ดังเนื้อเพลง “ได้ใช้ นั่นหมายถึงได้ปลูกจะกี่ต้น กี่ไร่ก็ว่าไป หรือปลูกเป็นเศรษฐกิจยิ่งดีใหญ่ เกษตรกร ไทยคงลืมตาอ้าปากอ้าปาก ก็เพราะว่าได้ปลูกได้ปลูกถึงลืมตาอ้าปาก” ผมถือว่าเราประสบความสําเร็จ เป็นขั้น เป็นตอน ในการทําให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีความโดดเด่น สร้างให้เกิดความมั่นคงทางยาของประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตร และผู้ประกอบการรายย่อย

โดยเริ่มก้าวแรกจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ การทําให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และความสําเร็จล่าสุด คือ มีการแก้กฎหมายทําให้พืชกัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผมได้ลงนามปลดล็อกพืชกัญชา จากการเป็นยาเสพติด เพื่อเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสม ไม่จํากัดแค่ 6 ต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้

ขอเรียนเน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนํามาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากําลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วัน ที่กัญชาจะพ้นจากการเป็นยาเสพติด

ประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นมาจดแจ้งให้รัฐทราบเพื่อให้เป็นไปตามข้อกําหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อเราได้ทําตามความประสงค์ของประชาชน คือ เอาต้นกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว ขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เพื่อนร่วมสังคมนําไปใช้ในทางที่ผิด

ขอขอบคุณสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ทํางานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูก และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีการจัดทําแนวทางการขึ้นทะเบียน ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง อํานวยความสะดวกให้เกษตรกร และผู้ประกอบการดําเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันเรามีวิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง ปลูกกัญชง 1,800 กว่าแห่ง ที่ได้รับอนุญาต และมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง ขอขอบคุณทุกกรมวิชาการที่เกี่ยวข้อง เขตสุขภาพทุกแห่ง และสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ในการประสานและนํานโยบายกัญชาทางการแพทย์ไปสู่การปฏิบัติ การปลดล็อกกัญชา และนํากัญชามาใช้ประโยชน์เป็นการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงาน ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มาช่วยเติมเต็มในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถทําได้

ขอขอบคุณเขตสุขภาพที่ 6 เป็นเขตสุขภาพที่มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และความรู้ด้านสมุนไพรมาอย่างยาวนาน มีการส่งเสริมเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านธุรกิจกัญชา เป็นแหล่งผลิตยากัญชาที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจจากส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด มีฐานข้อมูลการใช้ยากัญชาที่สามารถประมวลผลเรียลไทม์ มีการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกัญชา รวมทั้งได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง อย่างเป็นระบบ

“เราต้องมีความเข้าใจในการใช้กัญชาให้ถูกต้อง สามารถทำให้ทั้งสุขภาพก็ดีทั้งกระเป๋าตังค์ก็ตุงทั้งโอกาสในการทำมาหากิน เสริมสร้างรายได้ก็เพิ่มมากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งก็คือประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรรมพี่น้องที่เป็นชาวเกษตรกร ทำไมถึงไม่อยากจะมีพืชอีกหนึ่งชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการของทั่วโลกเป็นพืชชนิดใหม่ผู้คนให้ความสนใจสูง มีสรรพคุณทางการแพทย์มาเป็นพืชทางเลือกอีกทางหนึ่งในการปลูกเพื่อเสริมสร้างรายได้ นี่คือจุดที่เรามองเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ของกัญชามามอบให้กับพี่น้องประชาชนด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความเต็มใจ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่ายเลย ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดําเนินงานของเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดชลบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, ตราด, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการ ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ดําเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชาจํานวน 74 ราย อยู่ระหว่างดําเนินการยื่นขออนุญาต จํานวน 19 ราย และแสดงเจตจํานงขอปลูก จํานวน 17 ราย

ในสวนกลางน้ำ มีสถานที่ผลิตตํารับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต เป็นภาครัฐ จํานวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ในส่วนปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาล ภาครัฐ และภาคเอกชน รวม 18 แห่ง เน้นให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชา ได้อย่างความปลอดภัย

จุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 6 คือการส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการด้าน ธุรกิจกัญชา เป็นแหล่งผลิตยากัญชาที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจจากส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด มีฐานข้อมูลการใช้ยากัญชาที่สามารถประมวลผลเรียลไทม์รวมทั้งการ พัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกัญชา

สำหรับงานประชุมวิชาการข้างต้น มีนิทรรศการตลาดนัดความรู้จากภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัด แสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิม และลงมือทํา มีการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย ให้ผู้ป่วยมาตรวจรักษา และรับยากลับบ้าน ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image