โพลพระปกเกล้า เผยคนกรุงเทคะแนนให้ ‘ชัชชาติ’ เป็นผู้ว่าฯกทม. ชี้ นโยบายจะเป็นปัจจัยตัดสินใจเลือกผู้สมัคร
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ที่สถาบันพระปกเกล้า จัดการแถลงผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 2565 โดย นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เป็นการสำรวจความเห็นประชาชนเพื่อดูภาพรวมว่าคนกรุงเทพฯคิดอย่างไร และมีพฤติกรรมการเลือกตั้งอย่างไรหลังจากไม่ได้มีการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลานาน โดยกรอบความคิดเราดูตั้งแต่การรับรู้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน มีความตระหนักในการออกไปใช้สิทธิหรือไม่ ความคาดหวังตัวผู้สมัครและผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ในอนาคตเป็นอย่างไร ความต้องการอยากให้ผู้แทนทำงานในเรื่องใด และเกณฑ์การลงคะแนนตัดสินอย่างไร เป็นต้น
นางถวิลวดีกล่าวว่า จากการสำรวจประชาชน 1,038 คน เป็นผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 702 คน โดยเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 79.8% และเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 336 คน ในประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. 2565 พบว่าประชาชนไม่ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม ถึง 30.1% รองลงมาคือไม่ทราบระยะเวลาในการลงคะแนนเสียง 51.3% ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม. 36.2% ไม่ทราบบทบาท ส.ก. 35.5% และไม่ทราบจำนวนของ ส.ก. 58 %
ส่วนผลการสำรวจการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพบว่าประชาชนเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 42.4% รองลงมาคือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 12% พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 6.7% นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 5.7 นายสกลธี ภัททิยกุล 5.7% น.ส.รสนา โตสิตระกูล 2.7% นายโฆสิต สุวินิจจิต 2.3% ยังไม่ได้ตัดสินใจ จำนวน 18.2% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 2%
สำหรับความเห็นของผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หากเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะเลือกใคร พบว่าอันดับหนึ่ง ยังคงเทคะแนนให้นายชัชชาติ 52.9% รองลงมานายวิโรจน์ 10.8% นายสุชัชวีร์ 10.5% พล.ต.อ.อัศวิน 6% นายสกลธี 3% น.ส.รสนา 3% น.ต.ศิธา 1.2% ยังไม่ได้ตัดสินใจ 7.5% และไม่ประสงค์ลงคะแนน
ส่วนปัจจัยการเลือกผู้ว่าฯกทม. อันดับหนึ่งคือนโยบายของผู้สมัคร 62.3% รองลงมาคือประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร 48.9% และการพูดจริงทำจริง จริงใจในการแก้ไขปัญหา 29.9% สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯกทม.ดำเนินการอันดับหนึ่งคือการขนส่งสาธารณะและการจราจร 66.4% การจัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และพื้นที่สีเขียว 64.2% ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 52.5% ปัญหาน้ำท่วมขัง 45.4% และระบบสาธารณสุข และสุขอนามัย 41.7%
ส่วนของความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง พบว่า เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง 71.9% รองลงมาคือเชื่อว่า กกต.จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรมเพียง 49.1% นอกจากนี้ ผลสำรวจความตระหนัก ความสนใจ และความตั้งใจที่จะไปเลือกตั้งพบว่าไปเลือกตั้งแน่นอน 93.6% รองลงมาคือระบุชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ได้อย่างน้อย 5 คน 82.5% และทราบว่าคูหาเลือกตั้งอยู่ที่ใด 85.2%
ด้าน นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงผลการสำรวจในครั้งนี้ว่า ผลสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญของผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ซึ่งจากประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งได้มี 4.3 ล้านคน ซึ่งความเป็นจริงแล้วประชากรในกรุงเทพฯมีมากกว่านี้ ซึ่งผลสำรวจครั้งนี้นำความคิดเห็นของประชากรที่ไม่มีเสียงเลือกตั้งเข้ามาด้วย ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะมีประโยชน์กับผู้สมัครหรือผู้ที่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าจะต้องนำไปใช้