รายงานหน้า 2 : ก.เกษตร-สทนช.ปรับแผนน้ำ งัด13มาตรการรับมือฤดูฝน

รายงานหน้า 2 : ก.เกษตร-สทนช.ปรับแผนน้ำ งัด13มาตรการรับมือฤดูฝน

ก.เกษตร-สทนช.ปรับแผนน้ำ

งัด13มาตรการรับมือฤดูฝน

หมายเหตุ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชี้แจงการเปลี่ยนแผนจัดการน้ำจากฤดูแล้งสู่การรับมือฤดูฝน

เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

มอบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานสามารถวางแผนได้อย่างดี ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติงบประมาณเครื่องจักรกลมาเสริม จึงสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ฤดูฝนปีนี้ขอให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เกษตรกรควรเก็บกักน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ประเมินว่า ฝนปีนี้จะมีน้ำกักเก็บในพื้นที่มากกว่าปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน

ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2565 คาดว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการกักเก็บน้ำบวกกับการบริหารน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคก่อน รวมทั้งเตรียมวางเเผนเพาะปลูกตามจำนวนอีกด้วย โดยสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดแผนเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยตามปริมาณน้ำต้นทุนแล้ว อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 1 ล้านไร่ เป็นต้น อีกทั้งสั่งการกรมการข้าวให้หาพันธุ์ข้าวมีประสิทธิภาพ และประสานกระทรวงพาณิชย์มองหาตลาดใหม่ๆ อาทิ ประเทศตะวันออกกลางด้วย ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้เพาะปลูกตามแผน จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

สุรสีห์ กิตติมณฑล
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูร้อน พร้อมประกาศการเริ่มต้นฤดูฝน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม และคาดว่าจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนตุลาคม ทั้งนี้ สทนช.เตรียมมาตรการฤดูฝนปี 2565 ไว้ 13 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่

มาตรการที่ 1 ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมช่วงเดือนมีนาคม-ธันวาคม และประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ และฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนสิงหาคม) โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำหลาก และเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ 1 ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง และการจ่ายเงินค่าทดแทน หรือค่าชดเชยความเสียหาย

มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง เพื่อเฝ้าระวัง และควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ หรือเกณฑ์ควบคุม จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง ในช่วงภาวะวิกฤต

มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (ภายในเดือนกรกฎาคม) ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ภายในเดือนกรกฎาคม) สำรวจ และจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา (ภายในเดือนกรกฎาคม) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และดำเนินการขุดลอกคูคลอง ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดผักตบชวา

มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (ภายในเดือนกรกฎาคม) เตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักร พร้อมใช้งานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง สำหรับให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง

มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด

มาตรการที่ 9 ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้มีสภาพดี

มาตรการที่ 10 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ (ภายในเดือนพฤษภาคม) จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับต่างๆ อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่

มาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 12 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่างๆ และประชาชน

มาตรการที่ 13 ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image