รำลึก 30 ปีพฤษภา 35 ‘ชวน’ ปธ.เปิดงาน ยันหลักดีต้องคู่ ‘คนดี’ โคทม รับมีเสียงค้าน

รำลึก 30 ปีพฤษภา 35 ‘ชวน’ ปธ.เปิดงาน ยันหลักดีต้องคู่ ‘คนดี’ โคทม รับมีเสียงค้าน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชน 35, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล, รัฐสภา ตลอดจนภาคประชาชน ร่วมจัดงานรำลึก “30 ปี พฤษภาประชาธรรม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 คณะผู้จัดงาน ญาติวีรชน ผู้แทนภาคส่วน และประชาชน ร่วมพิธีรำลึก โดยมีผู้ร่วมงานคับคั่ง อาทิ ญาติวีรชน, นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทนฝ่ายค้าน, พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการกลาง มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, นายเมธา มาสขาว เลขาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), นายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

บรรยากาศเวลา 09 09 น. มีพิธีวางมาลา และพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรม

Advertisement

นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวรายงานความว่า การต่อสู้ของวีรชนพฤษภา 35 ได้เวียนมาบรรจบ เราจึงได้จัดงานรำลึกซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี กราบขอบคุณประธานสภา ท่านชวน หลีกภัย ที่มาเป็นประธารำลึกวีรชน ครบรอบ 30 ปี ขอกราบเรียนรายงานและสังเขปของงานความว่า มติ ครม. 11 พ.ค.2536 ให้จัดสร้างอนุสรณ์วีรชน ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ กำหนดวันดังกล่าวเป็นวันครบรอบพฤษภาประชาธรรม มีมติสืบเนื่องว่า ส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการจัดงานมาโดยตลอด ในส่วนของญาติวีรชนก็ได้มีการให้อโหสิกรรมผู้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วด้วย

นายโคทมกล่าวว่า ด้านกรมธนารักษ์ได้มอบที่ดินตรงนี้ให้เพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน ซึ่งประกอบด้วย อนุสาวรีย์และสวนสาธารณะ ที่สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาวางฤกษ์ และประธานชื่อ ภายในบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิต มีคำจารึกสร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรชน โดยในวันนี้ เวลาประมาณ 11.30 น. จะมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์วีรชน 35 โดย นายอานันท์ ปันยารชุน การรำลึกในปีนี้ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์-27 มิถุนายน 2565 เน้นสืบสานภารกิจเมื่อ 30 ปีก่อน สร้างประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญประชาชน ที่สำคัญคือหยุดยั้งการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมอีกต่อไป

โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม

นายโคทมกล่าวว่า ปีนี้ปลูกต้นไม้มงคล 17 ต้น คือ 1.ต้นหางนกยูง ซึ่งจะออกดอกสีแดง แทนเลือดเนื้อวีรชนที่รักประชาธิปไตย 2.ต้นคูน ให้ดอกเหลือง แทนคุณงามความดี และความสว่างไสวของประชาธิปไตย

Advertisement

“ระหว่างจัดงานมีการคัดค้าน โดยกลุ่มองค์กร ประชาชนค้านการเข้าร่วม เพราะเห็นว่าเราได้เชิญผู้มีบทบาทต่อต้านประชาธิปไตยในอดีตมาร่วม กระนั้น ผู้ร่วมจัดมีประสงค์จะสืบสานเจตนารมณ์ของวีรชนต่อไป พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้คัดค้าน เรียนว่างานที่จัดประจำทุกปีได้มีการเชิญรัฐบาล กองทัพบก และภาคต่างๆ มาร่วมกล่าวคำรำลึกทุกครั้ง ครั้งก่อนได้เชิญนายกฯ รัฐมนตรี บางปีท่านก็ส่งผู้แทน บางทีท่านก็ไม่ได้ส่ง” นายโคทมกล่าว

นายโคทมกล่าวต่อว่า เหตุการณ์การเมืองที่มีคนล้มตายนับร้อย ได้แก่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 กว่าจะจัดสร้างอนุสรณ์สถานได้ ใช้เวลา 25 และ 30 ปี ตามลำดับส่วน เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ใช้สถานที่ ม.ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ 35 ยังไม่คลี่คลาย ส่วนเหตุการณ์ ปี 53 เราคาดหวังว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นในไม่ช้า การเปิดอนุสรณ์สถานนี้ จึงเหมือนสัญลักษณ์แห่งการปรองดอง

จากนั้น เวลา 09.18 น. ประธานในพิธี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดงาน ความว่า ตนได้รับการประสานจากคุณอดุลย์ไปพบถึง จ.ตรัง เพื่อขอให้มาเป็นประธานในโอกาส 30 ปีรำลึก พฤษภาประชาธรรม โดยเหตุการณ์ก็ผ่านมา 30 ปีแล้ว หลายท่านอาจจะจำเหตุการณ์ตอนนั้นไม่ได้ ท่านประธานมูลนิธิ และประธานกรรการ โคทม อารียา อยู่ในเหตุการณ์ ขณะนั้น ตนก็อยู่ในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน จึงรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ช่วงเวลา 09.24 น. นายชวนเชิญผู้ร่วมงานยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่ออาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์

นายชวนกล่าวต่อว่า ขอถือโอกาสนี้เป็นกำลังใจให้ญาติวีรชน 30 ปีที่แล้ว ความพยายามไม่สูญเปล่า ความต้องการให้เป็นประชาธิปไตยได้เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญ 40 ก็เป็นผลพวงจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อตัวมั่นคงมากขึ้นตามลำดับ

“30 ปี ถ้าเทียบเวลาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเพียง 1 ใน 2 แต่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ต่างจากช่วงเวลาที่ส่วนใหญ่ อยู่ในการยึดอำนาจ แต่จากปี 2535-ปัจจุบัน เวลาส่วนใหญ่เป็นเวลาประชาธิปไตย แม้จะมีการยึดอำนาจ 2 ครั้ง เพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเราอยู่ในโลกความจริง บ้านเมือง เศรษฐกิจ เปลี่ยนไปมาก มีทั้งบวก ร้าย และลบ การเมือง ประชาธิปไตยสะดุดด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด คือธุรกิจการเงิน การทุจริตโกงกินเป็นเหตุผลหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปหนึ่งอย่างว่า แม้จะได้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่สุดท้ายก็มีปัญหา ถูกรัฐบาลยึดอำนาจ จากเงื่อนไขตัวบุคคล

“กฎหมายที่ดีกับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน ถ้ามีแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่างไรก็มีปัญหา เหตุการณ์ปรากฏให้เราเห็นแม้รัฐบาลมาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่ยึดประชาธิปไตย ไม่ยึดหลักนิติธรรม ก็เกิดปัญหา อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบัญญัติ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ และเพิ่มวรรค 2 ว่าทุกฝ่าย ต้องยึดหลักนิติธรรม แต่ระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ 40 มีการละเมิดเงื่อนไขนี้ 30 ปี เราได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ สู่การฟันฝ่าประชาธิปไตยในอนาคต นอกจากหลักที่ดี คนต้องดีด้วย” นายชวนกล่าว

นายชวนยังกล่าวถึงโครงการของรัฐสภาว่า การทำโครงการบ้านเมืองสุจริต ขอให้ยึดค่านิยมสุจริตไว้ เราจะจึงใช้คำว่า ‘ประเทศรุ่งเรือง’ เมื่อบ้านเมืองสุจริต

“ขอให้ญาติวีรชนภาคภูมิใจว่าไม่ได้สูญเปล่า ขออย่าหวั่นไหว ให้เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ซึ่งเราเลือกแนวทางนี้ ผ่านมา 91 ปีแล้ว บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทุกคนตระหนักว่า ภยันตรายที่เป็นเป้าหมายทำลายประชาธิปไตยคืออะไร ทั้งเรื่องการปรองดอง สามัคคี ประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากคน ไม่ได้เกิดจากการเขียนตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว เขียนดี แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ยังผล หลักที่ดีกับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน ขอให้กำลังใจญาติวีรชน และขอบคุณทุกฝ่าย ทุกองค์กร บัดนี้ได้เวลาสมควร ขอเชิญร่วมเปิดงานรำลึก 30 ปี ขอให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” นายชวนกล่าว

จากนั้น เวลา 09.35 น. ผู้แทนรัฐบาลกล่าวรำลึกวีรชน ก่อนนายชวนร่วมพิธีวางพวงมาลา และบันทึกภาพร่วมกันกับญาติวีรชน และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ

บรรยากาศเวลา 10.05 น. ตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันขุดดินรดน้ำปลูกต้นไม้มงคล จำนวนทั้งหมด 3 ต้น จาก 17 ต้น บริเวณสวนสันติพร หน้าอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดยมีผู้ร่วมปลูกต้นไม้ อาทิ นายชวน หลีกภัย, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์, ผศ.ดร ปริญญา ,นายวสันต์ บุญหมื่นไวย์, นายวสันต์ ภัยหลีกลี้

สำหรับต้นไม้ที่ปลูก ได้แก่ 1.ต้นหางนกยูง ซึ่งจะออกดอกสีแดง แทนเลือกเนื้อวีรชนที่รักประชาธิปไตย 2.ต้นคูน ให้ดอกเหลือง แทนคุณงามความดี และความสว่างไสวของประชาธิปไตย ระหว่างนี้มีการบรรเลงดนตรีพฤษภาประชาธรรม

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณงานมีการจัดกิจกรรมหลากหลาย อาิท นิทรรศการ โดยอาจารย์และนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อ ‘Santiporn Memorial Park Project โดยเปิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับชมและแสดงออกทางความคิด อาทิ การวาดภาพระบายสี โดย 30 ศิลปินวาดประชาธิปไตย นำโดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์  ทั้งนี้ นายชวน ประธานรัฐสภา ร่วมระบายสีด้วย ก่อนร่วมเขียนข้อความบนบอร์ดขนาดใหญ่  ในหัวข้อ ‘ประชาธิปไตยไทยตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ คุณคิดอย่างไร’ โดยนายชวนได้ร่วมเขียนข้อความด้วยปากกาสีน้ำเงินว่า “ประเทศรุ่งเรือง เพื่อบ้านเมืองสุจริต” รวมถึง นพ.ชลน่าน ก็ร่วมเขียนโดยใช้สีเทียนสีแดง บนบริเวณกระดาษที่ตัดแปะเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้อความว่า “ประชาธิปไตยที่สมดุลด้วย รธน.ที่ประชาชนร่วมสร้าง”

ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นิทรรศการที่จัดในวันนี้เป็นงานของนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีสุดท้าย ก่อนจบปีการศึกษา เนื่องจากธรรมศาาตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญมาเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

“พื้นที่สวนสันติพรเป็นสวนสาธารณะที่เปิดขึ้นใหม่ และเป็นหน้าที่ของภูมิสถาปนิกที่จะออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์ให้กับคนทุกกลุ่มและตอบสนองความยั่งยืน จึงให้เป็นโครงการของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ถึงชั้นปีที่ 4 ได้ศึกษาและเสนอแนวทางในการปรับปรุงนิทรรศการให้ทุกท่านได้ชมในวันนี้” ผศ.ปราณิศากล่าว

จากนั้น เวลา 10.29 น. นายชวน เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล พระสงฆ์ 10 รูป

เวลา 11.30 น. มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ก่อนร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ในเวลา 12.10 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image