30 ปีพฤษภาทมิฬ : สุรชาติ บำรุงสุข

การปราบปรามการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในการเมืองไทยในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 เดินทางมาเป็นระยะเวลาถึง 3 ทศวรรษ บทความนี้ขอแสดงความคารวะในการต่อสู้อย่างกล้าหาญของพี่น้องประชาชน และนิสิตนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย และขอร่วมแสดงความเสียใจและรำลึกถึงการเสียสละของบรรดา “วีรชนประชาธิปไตย 2535”

หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณกับผู้นำทหารในขณะนั้น จะนำไปสู่การก่อการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และคงต้องยอมรับว่า การยึดอำนาจรัฐบาลชาติชายเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากกับบรรดาผู้สังเกตการณ์การเมืองไทย

ในด้านหนึ่งการยุติบทบาทของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีก เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2531 ที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในปี 2519 อันเป็นดังสัญญาณของการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยในการเมืองไทย อีกทั้งความล้มเหลวของรัฐประหารที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้นำทหารว่า รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะประสบความสำเร็จได้ง่าย และอาจไม่ได้รับความสนับสนุนจากสังคมเช่นในอดีตของการเมืองไทย

ทุกฝ่ายจึงหวังว่า รัฐประหารน่าจะเป็น “เครื่องมือที่หมดพลัง” ของผู้นำทหาร แต่ก็ไม่มีใครกล้าให้หลักประกันในขณะนั้นว่า แม้รัฐประหารจะล้มเหลวถึง 2 ครั้งแล้ว รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง “ภูมิทัศน์การเมืองโลก” กำลังเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยน สงครามเย็นที่เกิดขึ้นในเวทีโลกกำลังจะปิดฉากลง เช่นเดียวกันกับโลกกำลังหมดภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และกระแส “โลกาภิวัตน์” เริ่มขยับตัวที่จะพัดไปในมุมต่างๆ ของโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกาภิวัตน์เป็น “กระแสเสรีนิยม” ดังนั้น การเมืองโลกจึงค่อยๆ เดินออกจากระบอบอำนาจนิยม เปลี่ยนผ่านเป็นระบอบที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า กระแสโลกาภิวัตน์ไม่ตอบรับกับการรัฐประหาร เพราะระบอบทหารที่เข้มแข็งที่สุดในละตินอเมริกาก็ถอยออกจากการเมืองแล้ว และระบอบอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ก็อยู่ในภาวะถดถอย รอเวลาที่จะสิ้นสุดลง ทั้งในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก

แม้ในไทยเอง สงครามคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงมานานก็ยุติลงแล้วตั้งแต่ปี 2526 หรือภัยคุกคามทางทหารชุดใหญ่ของสงครามของเวียดนามในกัมพูชาก็คลายตัวลงตั้งแต่ปี 2532 อีกทั้งรัฐบาลชาติชายยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการนำเสนอนโยบายแบบฉีกแนวคิดด้านความมั่นคงไทยในแบบเดิม ด้วยการ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” อันเป็นดังสัญญาณที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนชุดความคิดของผู้นำไทย อีกทั้ง เป็นภาพสะท้อนอีกด้านถึงการพาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าการยุติสงครามเย็นในภูมิภาค

สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้สังคมไทยโดยรวม ไม่มีความรู้สึกที่ต้องกังวลกับปัญหาสงครามทั้งภายนอกและภายใน หรืออีกนัยหนึ่งคือ สังคมเริ่มไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทของกองทัพในการเมืองเป็นปัจจัยหลักในการค้ำประกันความมั่นคงไทยเช่นในอดีต ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในยุครัฐบาลชาติชายมีความเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ อันส่งผลให้เกิด “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ของประเทศ และสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในมุมมองระหว่างประเทศกลายเป็น “ประเทศที่น่าลงทุน” อย่างมากในภูมิภาค

Advertisement

ไม่แปลกเลยที่จะกล่าวว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ไทยได้กลายเป็น “ตัวแบบ” ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่มีภาพปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัด ด้วยการเดินคู่ขนานระหว่าง “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” กับ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” อีกทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นดัง “ตัวอย่างของความสำเร็จ” สำหรับประเทศในภูมิภาคในประเด็นของการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจ

แม้การเมืองภายในของไทยจะมีจุดอ่อนหลายประการก็ตาม แต่หลายฝ่ายล้วนประเมินด้วยการมองโลกในแง่ดีว่า ไทยกำลังเดินทางเข้าสู่การเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือ “นิค” (NIC) ตามเส้นทางของการสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม … อนาคตของไทยดูสดใสอย่างยิ่ง!

แต่ในความสดใสเช่นนี้… เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยเฉพาะเกิดความหวาดระแวงของผู้นำทหาร ที่กลัวต่อการถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว ใครเลยจะกล้ารับประกันว่า ผู้นำทหารจะไม่หวนคืนสู่การยึดอำนาจ ฉะนั้น รัฐประหาร 2534 จึงเป็นคำตอบในตัวเองอีกครั้งถึง “วงจรรัฐประหาร” ที่การเมืองไทยยังไม่สามารถตัดขาดและหยุดวงจรเช่นนี้ได้จริง

หลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปตาม “สูตรเก่า” ที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ และจะตั้งพรรคทหารเพื่อเป็นเครื่องมือในการพาผู้นำรัฐบาลรัฐประหารให้เป็นผู้นำรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 และพรรคสามัคคีธรรมจึงเป็นกลไกหลักในการพาพลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นปัจจัยในการทำลายความชอบธรรมในตัวเอง ประกอบกับเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากการผิดคำสัญญาที่ไม่สืบทอดอำนาจ แม้พลเอกสุจินดาจะอธิบายว่า จำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” แต่วาทกรรมนี้กลับเป็นการเติมเชื้อไฟให้เพลิงกองใหญ่ที่กำลังลุกขึ้นที่ถนนราชดำเนิน การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนเป็นเหมือนกับการย้อนอดีตของการชุมนุมใหญ่ในปี 2516

ในที่สุด เมื่อรัฐบาลของผู้นำทหารเผชิญกับแรงกดดันของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้ รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจใช้กำลังในการล้อมปราบผู้ชุมนุมในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535… ผู้นำทหารอาจจะเชื่อมั่นใน “อำนาจปืน” และเชื่อเสมอว่า ปืนจะควบคุมทุกอย่างในสังคมการเมืองไทยได้ เช่นที่เขาประสบความสำเร็จในการรัฐประหารมาแล้วในต้นปี 2534

แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นไปดังที่ผู้นำทหารคาดหวัง สถานการณ์เกิดอาการ “ตีกลับ” การปราบปรามไม่ประสบความสำเร็จ ผู้นำทหารเป็นฝ่ายแพ้ และมีนัยที่สำคัญคือ “กองทัพแพ้สงครามบนถนน” ไม่ต่างจากปี 2516 อันส่งผลให้เกิดการลดบทบาทของทหารในการเมือง และถือเป็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ทางการเมืองครั้งที่ 2 ของไทย

อย่างไรก็ตาม คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า การลดบทบาทของทหารในปี 2535 ไม่ได้บ่งบอกถึงการยุติบทบาททางการเมืองของกองทัพ และไม่เป็นเครื่องบ่งชี้แต่อย่างใดว่า รัฐประหาร 2534 จะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้าย อีกทั้งความพ่ายแพ้ของทหารในกรณีนี้ ก็มิได้มีนัยถึงการปฎิรูปกองทัพในการเมืองไทยแต่อย่างใด แม้จะมีการดำเนินการบางประการ แต่ก็มิได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของทหารในการเมืองไทย กองทัพยัง “อยู่เป็นปกติ” ในการเมือง มีเพียงผู้นำทหารบางคนจะถูกย้ายออกจากตำแหน่งหลักเท่านั้น

ดังนั้น เราอาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” มิได้ก่อให้เกิดการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่ เพื่อรองรับต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของไทยแต่อย่างใด ซึ่งในอีกด้านหนึ่งของคำตอบเช่นนี้หลังจากเหตุการณ์ปี 2535 จึงเป็นเสมือนกับการที่สังคมการเมืองไทยนั่งรอการมาของความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ เพื่อที่จะนำไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง… รัฐประหาร 2549 ตามมาอีกครั้งในปี 2557 คือคำตอบในกรณีนี้ที่ชัดเจน

วันนี้ครบรอบ 3 ทศวรรษของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่เรายังคงมีผู้นำทหารจากการรัฐประหารเป็นผู้นำรัฐบาลไม่แตกต่างจากปี 2535 แต่ต้องไม่ลืมว่าครั้งนั้น ประชาชนชนะและกองทัพแพ้!

ขอร่วมรำลึกและคารวะ “วีรชนประชาธิปไตย 2535” !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image