‘ธรรมนูญ เทียนเงิน’ ผู้ว่าฯกทม.คนแรกจากการ ‘เลือกตั้ง’ สังกัดปชป. ที่เกือบไม่ได้เข้าชิง

นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เกือบจะไม่ได้ลงชิง ผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์เสียแล้ว

จากการเปิดใจของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้นเขียนบทความในหนังสือ “อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายธรรมนูญ เทียนเงิน” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2532 ระบุตอนนึ่งว่า ตอนนั้นที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ มีการล็อบบี้ให้ นายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรค ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนเลือกนายสุรัตน์ด้วยเสียงข้างมาก

นายสมัครได้มีการยกมือขอแสดงความเห็นทักท้วง

“ผมบอกให้ทุกคนในที่ประชุมนึกถึงคนสำคัญของพรรคระดับเลขาธิการที่ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปเมื่อต้นปีว่าเหตุที่คุณธรรมนูญแพ้นั้น เพราะอะไร และเมื่อเรามี โอกาสที่จะกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของเลขาธิการพรรคของเราได้ด้วยการที่จะให้ท่านเป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เรากลับไม่นึกถึงคนอย่างท่าน”

Advertisement

อดีตนายกรัฐมนตรีอ้างถึงนิทานอีสป

“ผมว่านี่เราเห็นคุณธรรมนูญเป็นเหมือนหมาไล่เนื้อที่ฟันฟางหักไล่กัดอะไรไม่ได้ตามคำสั่ง แล้วก็เลยทอดทิ้งหมาไล่เนื้อแก่เสียอย่างกับนิทานอีสปอย่างนั้นหรือ?”

คำทักท้วงของนายสมัคร ทำให้นายสุรัตน์ขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อ แล้วที่ประชุมก็เลือกนายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

จาก ‘นักเลงเก้ายอด’ สู่ ผู้ว่าฯกทม. เลือกตั้งคนแรก

นายธรรมนูญ เทียนเงิน เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2456 ที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรของหลวงสรรพกิจวิจารณ์ (สัน เทียนเงิน) กับ นางองุ่น เทียนเงิน

นายธรรมนูญมีบทบาทชีวิตที่โลดโผนมาตลอด จนได้ฉายาว่า “นักเลงเก้ายอด” เพราะสมัยวัยรุ่นทำวีรกรรมในวงการนักเลงไว้มาก พอเข้าวงการการเมืองเลยได้ฉายานี้ เพราะนักเลงใหญ่ๆ ในยุคนั้นมักนิยมสัก “ยันต์เก้ายอด”

นายธรรมนูญจบการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในปี 2474 แต่ในปี 2475-2480 โดนจับเนรเทศไปอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล เมื่อได้กลับมาในปี 2480 ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์และการเมือง ปี 2485 เข้าทำงานในบริษัทประกันชีวิตและธนาคาร กว่า 15 ปี

เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองโดยสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จังหวัดชลบุรี และได้รับเลือกตั้ง 2 สมัย ในปี 2489 และ ปี 2500 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

จนในปี 2512 นายธรรมนูญย้ายเข้ามาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่จังหวัดพระนคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็น ส.ส.ได้แค่ 2 ปี ก็ถูกจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง ปิดสภาผู้แทนราษฎร อีทั้งยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน 2513 ถึง 6 ตุลาคม 2518

นายธรรมนูญเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงสั้นๆ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ถึง 13 มีนาคม พ.ศ.2518 ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 ของไทย) แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย

ต่อจากนั้นจึงลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 13.86 โดย นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งกวาดไปได้ 99,247 คะแนน

ด้านผู้สมัครคนอื่นๆ อันดับที่ 2 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ พรรคพลังใหม่ ได้ 91,678 คะแนน อันดับที่ 3 นายชมพู อรรถจินดา กลุ่มพัฒนากรุงเทพธนบุรี ได้ 39,440 คะแนน อันดับที่ 4 นายเทียมบุญ ทินนบุตรา ผู้สมัครอิสระ ได้ 17,625 คะแนน และอันดับที่ 5 นายไถง สุวรรณทัต ผู้สมัครอิสระ ได้ 5,444 คะแนน

ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. นายธรรมนูญยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร โดยลูกเสือชาวบ้านเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย

สมัครเผยปมขัดแย้ง ผู้นำเผด็จการสั่งปลด งดเลือกตั้ง 8 ปี

นายธรรมนูญไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. จนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาว่าเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ของ กทม. จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2520 และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเช่นเดิม หลังเหตุการณ์ปลดนายธรรมนูญจากตำแหน่ง กรุงเทพมหานครไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการอีกเลยเป็นเวลา 8 ปี

นายสมัคร สุนทรเวช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนั้นว่า เป็นความขัดแย้งส่วนตัวระหว่าง นายธรรมนูญ กับ นายมงคล สิมะโรจน์ รองผู้ว่าฯกทม.ฝ่ายโยธา จนกระทบมาถึงการงานที่ต่างคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ สุดท้ายก่อนจะเกิดเรื่อง ฝ่ายนายมงคลประท้วงด้วยการยื่นใบลาออก ต่อมารองผู้ว่าฯกทม. ลาออก 2 คน แต่ทั้งสองไปชวน ส.ส. กทม. 16 คน ให้ลาออกด้วย ซึ่งตามกฎหมายต้องมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 60 วัน ในขณะที่ทางสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 24 คน มีความเห็นว่า บ้านเมืองไม่มีบรรยากาศที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งกัน ไม่ว่าในรูปแบบไหน จึงตัดสินใจไม่ให้มีการเลือกตั้งซ่อม

นายธรรมนูญ เทียนเงิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 สิริอายุรวม 75 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายธรรมนูญ เทียนเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image