“กมธ.กฎหมายลูก” ตั้ง 3 ข้อสังเกตให้ กกต.ปฏิบัติ ทั้งจัดมหรสพ ทำบัตรเลือกตั้งให้ชัด กำหนดสัดส่วนสมัครปาร์ตี้ลิสต์

“กมธ.กฎหมายลูก” ยืนเนื้อหาตามที่ปรับปรุง หลังเชิญ 16 ผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจง ระบุให้สิทธิสงวนความเห็นทุกประเด็นไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา เผย ตั้ง 3 ข้อสังเกตให้ “กกต.” ปฏิบัติ ทั้ง จัดมหรสพหาเสียง-ทำบัตรเลือกตั้งให้ชัดเจน-กำหนดสัดส่วน ชาย-หญิง สมัครปาร์ตี้ลิสต์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณา ที่กมธ.ได้เชิญ​สมาชิกรัฐสภาทั้ง 16 คนมาชี้แจงคำแปรญัตติ ว่า ได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยกมธ.ยืนยันตามเนื้อหาที่ได้พิจารณาแก้ไขในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ส่วนคำแปรญัตติที่สมาชิกเสนอนั้น กมธ.ให้สงวนคำแปรญัตติเพื่อไปอภิปรายต่อในที่ประชุมรัฐสภา เบื้องต้นมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น คำแปรญัตติของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่เสนอให้บุคคลที่พ้นตำแหน่ง ส.ว. สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ หรือกรณีที่ให้การหาเสียงเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพได้

“ประเด็นการจัดมหรสพนั้น เบื้องต้นกมธ.เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นแนวทางการสร้างการประชาสัมพันธ์ที่ดีและทำให้ประชาชนสนใจการเลือกตั้ง ทั้งนี้ กมธ.มีข้อสังเกตแนบท้ายด้วยว่า ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ และกมธ.มองว่ากรณีที่บางพรรคไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต แต่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจไม่มีช่องทางสื่อสารนโยบาย ดังนั้น กรณีการจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถมีเวทีสื่อสารนโยบาย” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีคำแปรญัตติของนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. ที่เสนอให้การจัดผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้คำนึงถึงผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส แต่กมธ.เห็นว่าหากบัญญัติไว้จะปฏิบัติยาก และกรณีที่ไม่บัญญัติไว้ พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดสรรให้บุคคล เช่น ชนเผ่า เพื่อดึงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มนั้นๆ ส่วนประเด็นสำคัญ คือ การเสนอคำแปรญัตติเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มี ส.ส.พรรคก้าวไกล และส.ส.พรรคเล็ก เสนอ โดยกมธ.ยืนยันตามเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กมธ.มีมติ 32 ต่อ 11 เสียงไปก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้ ยังมีคำแปรญัตติของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 51 มาตรา และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกว่า 44 มาตรา ที่กมธ.ให้สิทธิสงวนความเห็นไปอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เบื้องต้นเหตุผลที่กมธ.ไม่รับพิจารณา เพราะมองว่าบางประเด็นเกินกว่าหลักการของร่างกฎหมาย

Advertisement

นายนิกร กล่าวด้วยว่า ในการประชุมกมธ.วันที่ 19 พฤษภาคม กมธ.จะพิจารณาตรวจถ้อยคำ และพิจารณาข้อสังเกต 3 ประเด็น คือ ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้แก่ 1.ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ กกต.ควรกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของผู้สมัคร ซึ่งเป็นชายและหญิง เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้พรรคสรรหาผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าว รวมถึงการคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง และ 2.กรณีของการทำไพรมารีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมือง ที่เนื้อหากำหนดให้กกต.กำหนดวิธีการและหลักการ กมธ.มีข้อสังเกตให้กมธ. ประชุมกับพรรคการเมือง เพื่อรับฟังข้อเสนอและความเห็นก่อนที่จะกำหนดวิธีการและหลักการ

ส่วน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือ 1.การกำหนดบัตรเลือกตั้ง กกต.ต้องกำหนดช่องทำเครื่องหมายให้ชัดเจน โดยเรียงลำดับหมายเลขผู้สมัครหรือหมายเลขพรรคการเมือง เพียงหมายเลขเดียว เรียงลำดับไปถึงหมายเลขสุดท้าย เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงได้ตรงกับผู้สมัครที่ประสงค์จะลงคะแนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image