สัมมนาลั่น ‘ตามหาผู้สูญหาย’ พฤษภา 35 ยันอายุความยังไม่สิ้นสุด ชี้ พึ่งรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องร่ายปวศ.ของตัวเอง

​“วงสัมมนานานาชาติว่าด้วย 30 ปีพฤษภา” ลั่น ตามหา “ผู้สูญหาย” ยัน “อายุความ” ของ “การสูญหาย” ยังไม่สิ้นสุด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ห้อง LT 2 ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนานานาชาติว่าด้วย “30 ปีพฤษภาประชาธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า จากคำแนะนำของ ศาสตราจารย์ วิทิต มันตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ ที่บอกว่าอายุความของการสูญหายนั้นยังไม่สิ้นสุด เพราะยังไม่ได้ถูกนับหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไปคือทวงหาคนหาย เพื่อให้ความกระจ่างชัดขึ้น แม้ว่าประวัติศาสตร์บางส่วนจะถูกปล่อยออกมา ทั้งนี้สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ต่อไป หลังจากสร้างอนุสรณ์สถานให้เกิดขึ้น เราเห็นว่าแม้บ้านเมืองจะมีความขัดแย้ง แต่ต้องไม่แตกแยกและเราจะต้องป้องกันไม่ให้ การรัฐประหารเกิดขึ้น

​“เราจะเคลื่อนไหวในเรื่องของศพคนสูญหายว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการ จะต้องรับผิดชอบหาคนหายให้เรา ซึ่งครอบครัวของญาติจะถามหาความชอบธรรม ผู้สูญหายให้กลับคืนมา โดยไม่ให้รัฐบาลบ่ายเบี่ยงอีกต่อไป และการต่อสู้ของญาติจะต้องนำมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ให้กองทัพและรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ต้องคำนึงถึงสิทธิและความชอบธรรมของประชาชน” นายอดุลย์ กล่าว

Advertisement

​ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ทั้งนี้โอกาสในการทำรัฐประหาร แม้จะมีการพยายามขู่ประชาชนคนไทยตลอดเวล าแต่ตนก็เชื่อว่าจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต่างๆจะไม่มีวันยอม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทั้งนี้ตนดีใจที่สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเปลี่ยนแปลงภายใต้การต่อสู้ร่วมกัน ของญาติวีรชนกับภาคประชาชน ตนขอสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุดตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องของบ้านเมืองให้เกิดขึ้นให้ได้

​ด้าน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึง เรื่องการปกครองประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์เมื่อปี 2534 ในประเทศไทย เป็นเรื่องของการรัฐประหาร ในส่วนนั้นจะมีการแทรกแซ งและส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก คือ ทิศทางที่โลกเคลื่อนไหว ไปในทางเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยก็กลับไปมีการรัฐประหารในปี 2534 อีก ทั้งที่โลกยังคิดถึงเรื่องของเสรีภาพ แต่ทำไมประเทศไทยถึงมีรัฐประหารอีก อะไรเป็นสิ่งผิดปกติในประเทศไทย

​“ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน 2565 ยังเห็นว่าเรามีพลเอก ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลายท่าน ในขณะที่ประเทศต่างๆเปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยยังคงหยุดนิ่งอยู่ในของลักษณะการเมืองระดับเก่า เป็นสิ่งที่ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยยังมีการหยุดชะงัก ถือว่ายังไม่สำเร็จในเรื่องของ กระบวนการสร้างรากฐานประชาธิปไตย ทำไมถึงยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำไม ยังยากกว่าที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ ในเรื่องของกระบวนการวางรากฐานประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวมองว่า เพราะเป็นเรื่องของพื้นฐานความเชื่อ ทางวัฒนธรรมดั้งเดิม และกระบวนการที่ทหาร ต้องมาดูแลสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรม และเป็นเรื่องของการเคารพโครงสร้าง และกองทัพในประเทศไทยถูกมองว่า เป็นองค์กรและเป็นสถาบัน ที่ต้องมาช่วยปกป้องประเทศ ทำเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่มีสถาบันอื่นๆที่ทำหน้าที่ในการดูแล และเป็นที่เชื่อถือในเรื่องของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 90 ปีของการพัฒนาการในประเทศไทย” นายกษิต ภิรมย์ กล่าว

Advertisement

ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า จะต้องมีการนำหลักนิติรัฐมาใช้เป็น 1 ใน 3 เสาเข็มหลักของประเทศ และกฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นกฎหมาย ที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ และต้องถูกพิจารณาปรับปรุงอยู่เสมอ ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้
เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รัฐที่เป็นผู้ปกครองถึงแม้ว่าจะมีความชอบธรรมในการปกครอง แต่กฎที่อยู่เหนือกฎหมายก็คือ กฎความเป็นมนุษย์ , สิทธิมนุษย์มนุษยชนและมีถ้ากฎหมายไหน ที่ไปละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ก็แสดงว่ากฎหมายนั้นใช้ไม่ได้

“หลักนี้เป็นหลักที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ประเทศใดที่ออกกฏหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือนำไปสู่การเขียน แล้วนำไปสู่การทรมาน เอากฎหมายที่นำไปสู่การล้างเผ่าพันธุ์ เป็นความชอบธรรมประการหนึ่งที่ทำให้นานาชาติสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ส่วนหลักที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล และหลักแต่ปฏิบัติจริงน้อยคนที่จะทราบ รูปแบบการปกครองที่ผู้ปกครอง ต้องใช้ธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่หลักการสั่งจากบนลงล่าง หรือหลักที่ใช้บังคับ ทั้งนี้หากใครเป็นคนสั่งจะต้องรับผิดชอบด้วย และคนที่สั่งก็สามารถที่จะถูกดำเนินคดีฟ้องร้องได้” ร.ต.อ.ดร.วิเชียรกล่าว

นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ถ้าเทียบเหตุการณ์ ที่เมืองกวางจูเกาหลีใต้ ซึ่งตนได้ไปร่วมงานพร้อมกับนายอดุลย์และลูกชายของนายอดุลย์ ที่ประเทศเกาหลีใต้ เห็นถึงความเปรียบเทียบชัดเจนว่า ภาคประชาชนและรัฐบาลของเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์กวางจู มากกว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ของไทยซึ่งครบรอบ 30 ปีเมื่อวานนี้อย่างฟ้ากับดิน

​“ญาติวีรชนพฤษภา 35 ทำงานอย่างเหนื่อยยาก ตลอด 30 ปี แม้จะมีเรื่องอุปสรรคต่างๆ และการที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับ เราพยายามกดดันรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดใน 2 สมัยคือ สมัยรัฐบาลทักษิณและสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่เราก็ต้องทำงานอย่างเหนื่อยยาก ข้อเสนอต่างๆก็ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก จึงเห็นว่าการทำอะไรที่ฉาบฉวยของพรรคการเมือง ไม่ทำอะไรให้กับญาติและประชาชนที่เสียสละเลือดเนื้ออย่างแท้จริง” นายพิภพ กล่าว

ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ อะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง ของประเทศไทยต้องระวังให้มาก เพราะส่วนมากเป็นกฎหมายที่ไม่สมสัดส่วนกับภัยที่เขาอ้าง เหมือนกับหลายประเทศชอบอ้างแบบนี้เช่นกัน สำหรับเรื่องความโปร่งใสของประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยมีประเด็นมาก ซึ่งในอดีตเคยมีการ 3 คณะกรรมการเข้ามาดูแล แต่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรใหญ่ๆ กลับก็ไม่มีชื่อคนระดับสูงที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบจริงๆ รวมถึงเรื่องของการไต่สวน , สอบสวน ซึ่งตนคิดว่าควรที่จะมีการแสดงเจตนารมย์ที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องของอาวุธและการใช้กำลังที่เกี่ยวข้อง ก็เกินความจำเป็น และถ้ามองเรื่องอาวุธที่จะใช้กับคนที่ประท้วงบนถนน เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจะต้องถูกฝึกให้เข้าใจหลักเกณฑ์ด้วย

​ศาสตราจารย์วิทิต กล่าวว่า ส่วนเรื่องการทรมานเป็นมิติใหญ่ สำหรับประเทศไทยเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะเราเป็นภาคีของ อนุสัญญาที่ห้ามทรมานและการปฏิบัติที่เหยียดหยาม ตอนนี้เรากำลังร่างกฏหมายในเรื่องนี้ ซึ่งความพยายามให้กฎหมายในสภานี้ ตรงกับหลักสากลมากที่สุด รวมทั้งในเรื่องของนิยามคำว่าทรมาน ไม่ใช่กรณีที่บีบบังคับให้สารภาพ ถือเป็นการข่มขู่ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ในนิยามคำว่าทรมานอันใหม่ที่จะเกิดขึ้นในกฏหมายไทย

​“เรื่องการอุ้มหาย อยากให้เปลี่ยนความเข้าใจ เพราะร่างกฎหมายใหม่ที่ควบคู่กับเรื่องทรมาน กำลังจะเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อเตรียมให้ประเทศไทย เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเรายังไม่ได้เป็นภาคีถึงแม้ลงนามแล้ว คืออนุสัญญาเรื่องคนหาย สิ่งสำคัญในเรื่องของการอุ้มหาย คือไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเขาตาย อุ้มหาย คือ เรื่องของการสมคบเพื่อปิดบังมากกว่า ดังนั้นพยานหลักฐานอาจจะเป็นการโทรศัพท์กันบ่อยๆในช่วงนั้นก็ได้ เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ไปเกี่ยวข้อง กับคนที่ถูกผลักเข้ารถแล้วหายไป ไม่จำเป็นต้องดูว่าศพอยู่ที่ไหน ซึ่งตรงนี้กำลังมีความเข้าใจใหม่ขึ้นในสังคมไทย แต่ค้างอยู่กับพฤษภาทมิฬ ​ในหลักกฏหมายสากล ซึ่งสนธิสัญญาที่เรากำลังรอเป็นภาคีอยู่ ระบุว่าอายุความไม่เกิด ยังไม่เริ่มนับจนกว่าเรารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เรื่องนี้ก็แทรกอยู่ในร่างกฎหมายใหม่ในรัฐสภาช่วงนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบระหว่างการอุ้มหายแล้วทรมาน” ศาสตราจารย์วิทิต กล่าว

​ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ กล่าวต่อไปว่า ความรับผิดชอบต่อเหยื่อ ในช่วงหลังจากพฤษภา 35  ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจะเยียวยา คือ จ่ายเงินซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้น ในบรรทัดประวัติศาสตร์ไทย กรณีที่มีการเกิดเหตุใหญ่ๆแต่ละครั้งคือจ่าย แต่ไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบ ซึ่งเราไม่ได้ว่าอะไรเรื่องการชดใช้ แต่เรื่องความจริงของผู้รับผิดชอบน้อยมาก ดังนั้นขอฝากไว้ว่าการเอื้อต่อเหยื่อ ไม่ได้แต่เฉพาะเรื่องเงิน แต่ความจริงที่ต้องแสวงหาข้อมูลที่ชี้ชัด และเปิดให้เห็นกฏหมายว่าฝ่ายไหน ลำดับสูงสุดรับผิดชอบไม่มากก็น้อย

“การหาข้อเท็จจริงจะพึ่งรัฐอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค แต่เราต้องช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ แล้วบันทึกประวัติศาสตร์เราเอง ต้องเรียกร้องตามประวัติศาสตร์ที่เราระลึกถึงและจำได้ เพื่อให้ความยุติธรรมกับ เพราะเขาไม่สามารถที่จะอยู่ที่นี่ เพื่อเรียกร้องกับเรา และเราไม่เคยลืมเขา ต้องเน้นสิ่งที่จริงโดยไม่ลืมจิตวิญญาณ ของคนที่หายไปแล้ว แล้วตายไปแล้วที่ถูกกระทบ คำมั่นเล็กๆนี้ดีกว่าคำมั่นของบางฝ่าย ที่บอกว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ก็ยังมาเป็น หรือบางฝ่ายที่ยึดอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ไม่ว่าเขาจะถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่เขาทำได้หรือไม่ แต่ความ จริงแล้วในโลกสากล ต้องยึดประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนเป็นหลัก ยึดสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ยึดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกัน ซึ่งเริ่มจากบทเรียนที่เรามี จากพฤษภาทมิฬที่เรามีความทรงจำร่วมกัน” ศาสตราจารย์วิทิตกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image