30 ปีพฤษภา 35 ฝ่าวิวาทะสู่ข้อเรียกร้องเพื่อปชต.

30 ปีพฤษภา 35
ฝ่าวิวาทะสู่ข้อเรียกร้องเพื่อปชต.

ไร้ดราม่า ทว่า ไม่อาจปฏิเสธถึงภาพผู้คนที่บางตา สำหรับงาน “รำลึกสืบสานวีรชน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม” เมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

หลังเกิดกระแสแบนจากการเทียบเชิญ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ยุคปราบเสื้อแดงปี’53 จน “บิ๊กเนม” ในวงวิชาการ นักเคลื่อนไหว และประชาชนกลุ่มหนึ่งประกาศไม่เข้าร่วม จนผู้จัดต้องออกมาชี้แจงว่ามีการเชิญทุกภาคส่วนเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี ทว่า ปีนี้กลับเกิดวิวาทะ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายไร้เงาทั้ง “บิ๊กป้อม” ซึ่งส่ง พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มาเป็นตัวแทน ในขณะที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ส่ง “ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ” มาแจกจ่ายในภาคเช้า ณ สวนสันติพร หัวมุมถนนราชดำเนิน

ส่วนภาคบ่าย ตัดสินใจปรากฏตัวในเวอร์ชั่นออนไลน์ผ่านโปรแกรม “ซูม” ร่วมเวทีอภิปรายนานาชาติ ณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ” โดยไม่เดินทางเข้าร่วมโปรแกรมใดๆ แบบออนไซต์

Advertisement

ส่วนกำหนดการอื่นๆ ก็เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางศาสนา การวางพวงมาลาโดยผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐบาล กองทัพ พรรคการเมือง อีกทั้งการเปิด “อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35” อย่างเป็นทางการโดย อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเน้นย้ำว่าต้องข้ามความขัดแย้ง

“ผมยินดีที่ไม่กี่ปีมานี้ กระทรวงกลาโหมได้ขอโทษอย่างเป็นทางการ และผู้ที่มีส่วนเสียหายก็ได้อโหสิกรรมให้กับการกระทำ ความทรงจำยังมีอยู่ เราไม่ลืม แต่เราต้องเดินข้ามไปแล้ว” อานันท์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นหางนกยูงซึ่งออกสีแดงแทนเลือดเนื้อประชาชน และต้นคูนซึ่งออกดอกสีเหลืองแทนความสว่างไสวของประชาธิปไตย รวม 17 ต้น สื่อสัญลักษณ์ 17 พฤษภาคม “วันพฤษภาคมประชาธรรม” เป็นประจำทุกปี ซึ่งกลุ่ม “ญาติวีรชน” ที่มี อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการ ก็แข็งขันจัดรำลึกอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

โดยในปีนี้ผนึกมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ประกาศจัดใหญ่ในโลกจำเหมือนกวางจู เกาหลีใต้ ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ขาดสาย ยาวไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายนนี้ซึ่งจะครบรอบ 90 ปีประชาธิปไตยในเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหมุดหมายไปไกลกว่าการรำลึกย้อนความทรงจำ หากแต่เดินหน้าเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ตามหาผู้สูญหายคืนครอบครัวผู้สูญเสีย สืบสานภารกิจเมื่อ 30 ปีก่อน สร้างประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญประชาชน ที่สำคัญคือหยุดยั้งการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

ในเช้าวันนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเปิดงานรำลึก กล่าวในตอนหนึ่งว่า ขอให้ญาติวีรชนภาคภูมิใจว่าไม่ได้สูญเปล่า ขออย่าหวั่นไหว ให้เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ซึ่งเราเลือกแนวทางนี้ ผ่านมา 91 ปีแล้ว บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทุกคนตระหนักว่าภยันตรายที่เป็นเป้าหมายทำลายประชาธิปไตยคืออะไร ทั้งเรื่องการปรองดอง สามัคคี ประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากคน ไม่ได้เกิดจากการเขียนตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว เขียนดี แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ยังผล หลักที่ดีกับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน

“กฎหมายที่ดีกับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน ถ้ามีแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่างไรก็มีปัญหา เหตุการณ์ปรากฏให้เราเห็นแม้รัฐบาลมาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่ยึดประชาธิปไตย ไม่ยึดหลักนิติธรรม ก็เกิดปัญหา” ประธานรัฐสภากล่าว ทั้งยังเน้นย้ำให้ยึดค่านิยม “(ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมือง) สุจริต” หลักดี ต้องคู่ “คนดี”

ในขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวในงานเดียวกันว่า ผ่านมา 30 ปี สิ่งที่ประสบคือประเทศนี้ไม่เคยเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวงจรอุบาทว์

“หลังปี’35 อย่างน้อยก็มีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีข้ออ้างไม่ต่างกัน โดยเฉพาะความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน ทุจริต คอร์รัปชั่น ล้มล้าง เพื่อยึดอำนาจ เพื่อสืบทอดอำนาจ บริหารราชการ เพียงแค่เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนรุ่นตามยุคสมัย บทเรียนไม่ถูกนำมาใช้ แต่คุณค่าน่าจดจำยิ่ง คือการมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ปี’35 นายกฯมาจากประชาชน และมีรัฐธรรมนูญปี’40

แต่กลไกการทำรัฐธรรมนูญปี’60 ถูกบิดเบือน ให้นายกฯไม่ได้มาจากผู้แทนประชาชน ด้วยการเขียนใช้วิธีการฉลาด เสมือนว่ามีการเลือกตั้งนายกฯ แต่ไม่ได้ระบุบทเรียนตรงนี้ ถ้าต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง สมบูรณ์ เป็นประชาธิปไตยที่สมดุล ก็ด้วยรัฐธรรมนูญที่พี่น้องเขียนขึ้นมา” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวในช่วงเสวนาภาคบ่ายในตอนหนึ่งว่า วัฏจักรการรัฐประหารมีปัจจัยที่สำคัญคือ ความคิดแบบอำนาจนิยมครอบงำ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจนถึงวันนี้ ในปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายให้เห็น “ข้าพเจ้าคือฮีโร่ เป็นคนเก่ง ไม่ฟังใคร ถูกที่สุด” ความคิดแบบนี้ปฏิเสธการมีส่วนร่วม ปฏิเสธหลักอำนาจเป็นของประชาชน ปฏิเสธหลักกฎหมายที่ถูกต้อง แต่อ้างให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายที่ตัวเองออก

อีกทั้งเน้นย้ำว่าหากจะยุติวงจรรัฐประหารต้องสร้างบทบัญญัติห้ามนิรโทษกรรม ต้อง “เลิกให้อภัยรัฐประหาร”

“ต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้การรัฐประหารไม่สามารถนิรโทษกรรมและถูกลงโทษ ถือเป็น อาชญากรรมต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชน และถือสิ่งเหล่านี้เป็นประเพณีในระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศไทย ไม่ให้อภัยการยึดอำนาจ และตามลงโทษได้ตลอดเวลาเมื่อหมดอำนาจ ถ้าเป็นเช่นนี้แม้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้จะดำรงอยู่ตลอดไป เหมือนหลักสิทธิมนุษยชน ถือเป็นหลักทั่วไปซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส” โภคินระบุ

สำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกผ่านกล้องและโปรแกรมซูมว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า จะได้รัฐบาลหรือผู้นำที่ดี ไม่มีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ดังนั้น 1.จะทำอย่างไรให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชน และหากมีการประท้วงก็เป็นเพียงการประท้วงรัฐบาล ไม่นำมาสู่การล้มประชาธิปไตย คือแนวทางที่ต้องร่วมแสวงหาทางออก 2.ลำพังรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คงไม่สามารถเป็นหลักประกันความต่อเนื่องของประชาธิปไตยได้ แต่ต้องมีระบบมาสนับสนุน

อดีตนายกฯท่านนี้ยังแนะว่า ต้องยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ไม่เช่นนั้นเสี่ยงเกิดความขัดแย้งไม่รู้จบ

“ผมไม่อยากให้สถานการณ์เกิดขึ้นและย้อนกลับไปอย่างปี’35 ขั้นตอนแรก ต้องยกเลิกมาตรา 272 ผู้มีอำนาจต้องเปิดใจยอมรับ ขั้นตอนที่ 2 ผมหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองและ ส.ว. ควรมีท่าทียอมรับว่าการจะให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยราบรื่น ระบบต้องได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไข หรือแม้แต่ยกร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ต้องเกิดขึ้น เพื่อสร้างระบบที่ปรารถนาให้เกิด โดยเรียนรู้จุดบอดสำคัญในเรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ลงตัว จนนำไปสู่การลงท้องถนน” อภิสิทธิ์กล่าว

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวตรงกันทั้งในเวทีเสวนาในงานรำลึกเมื่อ 17 พฤษภาคม ณ สำนักท่าพระจันทร์ และงานรำลึก ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฐานที่มั่นสุดท้ายเหตุการณ์พฤษภา 35 เพียง 1 วันก่อนหน้าซึ่งจัดโดย เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ปริญญาย้ำว่า สิ่งแรกที่ควรทำถ้าทำได้ก่อนเลือกตั้งคือต้องตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ หาไม่แล้วเลือกตั้งคราวหน้าก็ไม่จบ เราต้องหาระบบ 1 คน 1 เสียง ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ

เราเห็นต่างกันได้ เลือกพรรคการเมืองคนละพรรคกันก็ได้ ใส่เสื้อคนละสีก็ได้ จะส้ม เหลือง แดง ฯลฯ แต่เราต้องอยู่ร่วมประเทศกันให้ได้แล้วจบที่หลักการ 1 คน 1 เสียง

งาน “รำลึกสืบสานวีรชน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม” ปีนี้ คึกคัก อบอวลไปด้วยบรรยากาศการเรียกร้องประชาธิปไตย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image