รายงาน : สรุปผลสอบ ‘กมธ.’ เสนอ ‘บิ๊กตู่’ ล้มประมูลท่อส่งน้ำ ‘อีอีซี’

รายงาน : สรุปผลสอบ ‘กมธ.’ เสนอ ‘บิ๊กตู่’ ล้มประมูลท่อส่งน้ำ ‘อีอีซี’

หมายเหตุนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ขอให้ยกเลิกโครงการบริหารและดำเนินกิจการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก หรืออีอีซี พร้อมเสนอให้ประมูลใหม่ผ่านระบบอีบิดดิ้ง ขณะที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคามและรองหัวหน้า พท. แถลงกรณีความไม่โปร่งใสในการประมูลท่อส่งน้ำสายอีอีซี มูลค่า 25,000 ล้านบาท

เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ

สิ่งที่ส่งมาด้วย
1.เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จำนวน 1 ชุด
2.รายงานสรุปสำหรับผู้บริหารโครงการศึกษาวิเคราะห์แนวทางและการกำหนดผลประโยชน์ ตอบแทนในการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
3.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2521
4.พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
5.พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562
6.ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564

ด้วยในคราวประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 และวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมาธิการได้พิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสาย หลักในภาคตัวออก โดยเชิญ กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าร่วมประชุม

Advertisement

คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณได้พิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตัวออกพบว่า โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นโครงการที่ดำเนินการในช่วงสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้มีมติคณะคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ให้ก่อตั้งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด เป็นผู้บริหารโครงการ โดยการประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้นร้อยละ 100 เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่งได้มีการประเมินแล้วเห็นว่าจะต้องมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อขยายการให้บริการด้านน้ำในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีการใช้งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสามารถส่งน้ำให้ทุกพื้นที่ได้ รัฐบาลจึงมีการร่วมทุนกับเอกชน โดยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลง และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาลงทุนก่อสร้างระบบท่อน้ำเพิ่มมากขึ้น และหารือกับกระทรวงการคลังในการเช่าที่ราชพัสดุ และทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้สัญญาการเช่าเส้นท่อเพื่อบริหารโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกกำลังจะสิ้นสุดลง กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ดำเนินการให้เช่าบริหารเส้นท่อและระบบเพื่อบริหารต่อ และเกิดปัญหาร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหาร งบประมาณว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการคุ้มครองผลประโยชน์รัฐหรือไม่ ในการนี้เพื่อให้การบริหารโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเกิดความมั่นคงและเกิดเสถียรภาพ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตลอดจนแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะจึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะบริหารและจัดการน้ำในระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ ยังมีการกำหนด TOR ที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในเนื้อหาสาระสำคัญ ทั้งในด้านวิศวกรรม สังคม กฎหมาย อาทิ ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในการคำนวณ ซึ่ง TOR ไม่ได้กำหนดปริมาณน้ำในการคำนวณประมาณต่อปีที่แน่ชัดทำให้ผู้ประกอบการใช้ปริมาณน้ำปีมาคำนวณในการประมาณที่มากน้อยแตกต่างกัน คือ 151 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และ 350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้เกิดปัญหาข้อถกเถียง เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดทางวิศวกรรม เป็นต้น ประกอบกับมีการร้องเรียนอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ยังขาดความชัดเจนโปร่งใสของ
ขั้นตอนกระบวนการดังกล่าวข้างต้น

2.เนื่องจากการใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงาน อาทิ กรมธนารักษ์ได้ใช้พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดหาผู้ประกอบการ และยังคงมีเส้นท่อเดิมที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด ซึ่งวางโครงข่ายต่อจากแนวเส้นท่อหลักที่ส่งไปบริการในพื้นที่ต่างๆ จะต้องมีการบริหารในอนาคตที่มีเอกภาพและเสถียรภาพ ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้เห็นสมควรให้นำกฎหมายที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของปัจจุบันและอนาคตที่จะมีการขยายตัวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรองรับการใช้น้ำของทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอมาใช้ในการคัดเลือกผู้ที่จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำในระบบเส้นท่อของกรมธนารักษ์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหน่วยนโยบายและกำกับในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาค ตะวันออกเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจตามกฎหมาย กระบวนการนี้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้จัดเตรียมเอกสารข้อกำหนดวิธีปฏิบัติต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก่อนการดำเนินการหากมีสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรีเดิม ควรพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติเห็นชอบก่อนเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

Advertisement

3.เห็นควรให้มีคณะกรรมการกำกับภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้ควบคุมชั่วคราว (interim regulator) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนดกลไกโครงสร้างราคาค่าน้ำในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการใช้น้ำและการบริหารเส้นท่อร่วมกัน

4.คณะกรรมาธิการเสนอให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ และเสนอให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกด้วยวิธีการประมูล เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดกว้าง ตรวจสอบได้ ทั้งยังเป็นการเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุด

อนึ่ง โดยที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง หากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง จะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษรองรับ และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความจําเป็นต้องมีการบูรณาการในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

                    ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายไชยา พรหมา)
ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ
และติดตามการบริหารงบประมาณ

**********

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
ส.ส.มหาสารคามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

เรื่องนี้กรมธนารักษ์จะเซ็นสัญญากับบริษัทวงษ์สยามฯ ที่ชนะการประมูล แต่ผมและคณะได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอีอีซี เพราะเป็นการปล้นชาติ ยังยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น และพรรคเพื่อไทย (พท.) มีหลักฐานเป็นเล่มๆ ที่จะนำมาแฉ และพร้อมล้มรัฐบาลด้วยเรื่องนี้ หลังจากนายกฯสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่อง
ดังกล่าว ได้มีการตั้งนายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยจะสรุปผลการตรวจสอบในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะฟอกขาวให้ว่าไม่มีใครผิด

ผมและพรรค พท.บอกเลยว่าคุณจะสรุปว่าไม่ผิดรับรองติดคุกแน่ และวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะยื่นเอกสารหลักฐานที่มีให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ราชพัสดุโดยตำแหน่ง ถ้าทั้ง 2 คนไม่ดำเนินการอะไร จะเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และจะอภิปรายทั้งสองคนแน่นอน โดยมีข้อพิรุธในการจัดประมูลหลายขั้นตอน การอภิปรายครั้งนี้พรรค พท.พร้อมมาก พล.อ.ประยุทธ์ นายอาคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อย่าหนีไปไหน
ก็แล้วกัน จะแฉให้ดูว่าใครมีความไม่โปร่งใสบ้าง

การประมูลเที่ยวนี้มีพิรุธ ประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 บริษัทอีสท์วอเตอร์ฯ ชนะการประมูลไปแล้ว จากนั้นมีการทำหนังสือขอยกเลิกการประกวดราคาครั้งที่ 1 บริษัทอีสท์วอเตอร์ฯ จึงฟ้องศาลปกครอง อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น ในฐานะประธานคัดเลือกต้องรับผิดชอบที่ไปยกเลิกการประมูล เพราะคณะกรรมการคัดเลือกมีเพียงนายยุทธนา
คนเดียวที่ไม่เห็นด้วย และสั่งล้มการประมูล เมื่อไปแจงกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายยุทธนาระบุว่า คณะกรรมการไม่เห็นด้วยและลาออกซึ่งไม่จริง ขอท้าให้เอาหลักฐานมาโชว์ และในการประมูลครั้งที่ 2 ยื่นซองวันที่ 29 กันยายน 2564 ก่อนที่นายยุทธนาจะเกษียณราชการวันที่ 30 กันยายน 2564 มีการเปลี่ยนกรรมการใหม่ยกชุด มีเพียงนายยุทธนาซึ่งเป็นประธานที่ยังอยู่ และให้บริษัทวงษ์สยามฯ ชนะนี่เป็นข้อพิรุธ นอกจากนี้ มีตัวละครคนหนึ่ง ซึ่งนายสันติรู้จักดี มาแทรกแซงคณะกรรมการ

ดังนั้น ผมเตรียมจะแฉในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า นาย… เป็นใคร งานนี้ต้องเอาติดคุกแน่ พรรค พท.ประกาศพร้อมล้มรัฐบาล เอกสารหลักฐานมีหมด เรื่องนี้ได้เสียแน่ ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ นายอาคม และนายสันติ อภิปรายไม่วางใจเที่ยวนี้โดนแน่ มั่นใจว่าข้อมูลที่มีล้มพวกคุณได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image