มีลุ้น! ศบค.เล็งถกเปิดสถานบันเทิง-ปรับโซนสีเขียว 20 พ.ค.นี้

จับตา 20 พ.ค.นี้ ศบค.เล็งถกเปิดสถานบันเทิง-ปรับโซนพื้นที่เป็นสีเขียว พร้อมคลายมาตรการเพิ่ม เชื่อ กระตุ้นศก.ขยับ ระบุ หากติดเชื้อ-ตายลด ประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ว่า

ในที่ประชุมรายงานผลและประเมินทิศทางการทำงาน หลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดประเทศ และปรับพื้นที่โซนสีจังหวัด ให้มาตรการผ่อนคลายลง จากสีส้มเป็นสีเหลืองทั้งหมด และมีพื้นที่สีใช้มาตรการสีเขียว 17 จังหวัด และที่ประชุมจะพิจารณาปรับพื้นที่โซนสีให้ผ่อนคลายมากขึ้นจากสีเหลืองเป็นสีเขียวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีฟ้ามากขึ้น เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในบรรยากาศที่สามารถจะผ่อนคลายมาตรการได้ และจะปรับมาตรการอื่น เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้สะดวกกว่าเดิม สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้คล่องตัว ลดภาระการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

ส่วนที่มีข้อกังวลและต้องจับตาคือหลังจากเปิดสถานศึกษาเต็มรูปแบบ 100% โดยเรามีมาตรการรองรับไว้

Advertisement

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบการ ให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์คาราโอเกะ จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมในวันที่ 20 พฤษภาคมด้วย ที่ผ่านมาพิจารณามาหลายรอบ แต่ทางสาธารณสุข ยังมีความกังวลอยู่ แต่ในครั้งนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยดูจากวิธีการจัดการตนเองเมื่อติดเชื้อเป็นไปด้วยดี คิดว่าน่าจะได้รับการพิจารณา

เมื่อถามว่า จะพิจารณาเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยจะดูพื้นที่ปลอดภัยเป็นหลัก และประเมินตามปัจจัยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เรื่องนี้นายกฯมอบแนวทางไว้นานแล้วว่าจะต้องพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง หากพื้นที่ใดพร้อม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาจากปัจจัยที่วางหลักเกณฑ์ไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเพิ่มแค่ไหน หากมีการผ่อนคลายสถานบันเทิง

Advertisement

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า จากข้อมูลตัวเลขผู้ประกอบอาชีพกลางคืน มีหลายล้านคน ดังนั้นตัวเลขไม่ต้องกังวลเพราะจะเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งพื้นที่ภาคการท่องเที่ยวก็จะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวด้วย สำคัญที่สุดคืออาชีพของคนไทยที่เกี่ยวข้อง 10 ล้านคน จะทำให้ธุรกิจจะขยับขยาย สำหรับการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องดูการฉีดวัคซีนจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต การบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ การปรับตัวของประชาชน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้

โดยนายกฯ ให้พิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนจะประกาศ และมีโอกาสประกาศให้เร็วขึ้น หากสถานการณ์อาจเป็นไปตามปัจจัยที่วางไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image