เสวนาพฤษภามหาโหด จี้กองทัพถอนตัวการเมือง คืนผู้สูญหายให้ครอบครัว เปิดแถบดำในรายงานสอบสวน

เสวนาพฤษภามหาโหด จี้กองทัพถอนตัวการเมือง คืนผู้สูญหายให้ครอบครัว เปิดแถบดำในรายงานสอบสวน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ที่หอประชุมข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ จัดงานเสวนา 3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง โดยมีวิทยากร ได้แก่ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ผู้นำนิสิต-นักศึกษา ในช่วงพฤษภา 2535, พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในยุคดังกล่าว และ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง ดำเนินรายการโดย นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ

รศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ข่าวพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2533 หน้าปกขึ้นว่า “ลาทีรัฐประหาร” คือความรู้สึกของคนยุคนั้น จากประชาธิปไตยครึ่งใบไปสู่แบบเต็มใบ การแก้ปัญหาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีการเอารถถังมายึดอำนาจ การปราบปรามประชาชนก็จะเป็นแค่ตำนาน แต่ 2-3 เดือนให้หลังก็เกิดการยึดอำนาจ 23 ก.พ. 2534 แต่ผู้คนในสังคมค่อนข้างสบายใจ เพราะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์อย่างยิ้มแย้มกับสื่อมวลชนว่าบ้านเมืองจะถอยหลังเพียงก้าวเดียว แต่เดินไปข้างหน้าสิบก้าว และจะให้มีเลือกตั้งใน 6 เดือน

รศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นักศึกษา 24 มหาวิทยาลัยรวมพลังกัน คอยติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าที่บ้านเมืองจะก้าวหน้ามันไม่จริง คณะรัฐประหารเหมือนกันหมด เขาตั้ง ส.ว.ขึ้นมาเลือกนายกฯในร่างแรก คนไม่ยอมไปประท้วงที่หน้าสภา สุดท้ายเขายอมถอย รัฐธรรมนูญจึงผ่านออกมาได้ พล.อ.สุจินดา ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่เป็นนายกฯ แต่สุดท้าย 7 เม.ย.ก็เข้ารับตำแหน่ง จึงเกิดการประท้วงและนำไปสู่การปราบปรามประชาชน

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

“ผมไม่นึกว่าภาพที่เคยเห็นในหนังสือที่คนเป็นแสนออกมาชุมนุมจะเกิด หรือทหารเอาปืนออกมายิงประชาชนก็ไม่อยากเชื่อ แต่มันเกิดขึ้นทุกอย่าง สิ่งที่จะมีประโยชน์ในการพูดกันคือทำยังไงให้เหตุการณ์มันไม่เกิดขึ้นอีก ขณะนี้สถานการณ์มันดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร ท่านลองถามตัวเองดูว่าบ้านเมืองดีขึ้นกว่า 30 ปีที่ผ่านมาไหม เมื่อปี 2533 ผู้คนเชื่อว่าการรัฐประหารจะหมดไป แต่มาถามตอนนี้เราไม่แน่ใจ เรากลัวจะมีอีก” รศ.ดร.ปริญญากล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ผ่านมา 30 ปีแล้ว ขอให้คืนศพผู้สูญหายให้ญาติ เพื่อยอมรับที่ผ่านมาว่าคือบทเรียน จะได้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ ด้านรายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมซึ่งเต็มไปด้วยแถบดำคาดไว้ บัดนี้ผ่านไป 30 ปี ตามเวลา 20 ปีก็เผยได้ ถึงเวลาต้องเผย เพื่อให้จบในแง่ของข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้ช่วยกันป้องกัน

นายสมบัติ กล่าวว่า หลังเวทีปี 2535 เต็มไปด้วยอดีตฝ่ายซ้ายและ NGO ด้านฝั่งของนักศึกษาเริ่มที่รามคำแหง ตอนนั้นนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ เป็นนายก อสมร. ประท้วงเกือบจะทันที และมีคนถูกจับ 15 คน ตนจำได้ดีเลย เพราะได้เอาเงินเก็บ จำนวน 10,000 บาท ไปช่วยประกันตัว ในช่วงปี 2534-35 ตนอยู่ที่รามคำแหงได้ไปชวนน้องในชมรมให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทาตึกสีดำไว้อาลัย แล้วชมรมอื่นๆ ร่วมทาด้วย จนตึกกลายเป็นสีดำทั้งหมด

“หลังเหตุการณ์ปี 35 เราได้บทเรียน พอเหตุการณ์ปี 49 ที่มีการยึดอำนาจ ผมรีบจัดประชุมนักกิจกรรมที่ออฟฟิศ แล้วออกเคลื่อนไหวในนามเครือข่าย 19 กันยา ต่อต้านการรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้แม่นซึ่งเป็นชุดความคิดจากปี 35 คืออย่าให้การรัฐประหารสำเร็จ ตอนนั้นมีการเผยแพร่งานเขียนของยีน ชาร์ป จัดฝึกอบรมกันมากมายว่าจะประท้วงอย่างไรโดยสันติ ต่อต้านอำนาจรัฐโดยไม่เกิดความสูญเสีย

Advertisement

“แต่ที่น่าเสียใจคือพอปี 49 หรือปี 57 ภาคประชาชนที่ได้รับบทเรียนจากปี 35 แตกแยกกัน แล้วบรรดาพี่ๆ ส่วนใหญ่เขาอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุน หรือนิ่งเฉยต่อผู้ก่อการยึดอำนาจ ทำให้ภาคสังคมในช่วงหลังอ่อนแอลงและไม่สามารถดำรงบทบาทในสิ่งที่ควรได้” นายสมบัติกล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

นายสมบัติกล่าวเพิ่มว่า ตนเคยถูกจับไปนอนค่ายทหาร 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายมีนายทหารมาสัมภาษณ์ ได้สังเกตนายทหารหนุ่ม เห็นพลัง เห็นความรู้สึกที่มีอำนาจ เขาสดชื่น เขาสามารถมีสถานะสูงกว่าได้ในขณะที่อยู่ในค่ายทหาร

“การมีรัฐประหารต่อเนื่องทำให้นายทหารหนุ่มคิดว่าวันหนึ่งเขาอาจถูกหวยรางวัลที่ 1 ได้เป็นนายกฯ เชื้อความคิดแบบนี้มันบ่มเพาะเรื่องอำนาจนิยม ดังนั้น การที่เราไปคิดจะสร้างกลไกนี่นั่นป้องกัน ผมคิดว่าจะต้องไปเปลี่ยนสิ่งนี้” นายสมบัติกล่าว

ด้าน พล.อ.บัญชร กล่าวว่า นับวันการเมืองจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปี 2475 สู้กันระหว่างคณะราษฎรกับระบอบเก่าแค่นั้น แต่วันนี้คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าพูดในภาษาพีชคณิต ชั้นเดียว ง่าย ไขว้ซะก็จบ ถ้ามี 2 ชั้น x y หรือ 3 ชั้น จะเริ่มเหนื่อยจากตัวแปร x y z บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ง่ายๆ แต่ทำยาก ถ้าทหารถอนตัวออกจากการเมือง อย่างน้อยการเมืองคงจะลดตัวแปรไปสักตัวหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่อย่างไร

“ผมยังจำความรู้สึกตัวเองหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ได้ ผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่กองทัพจะถอนตัวออกจากการเมืองสักที บ้านเมืองก็ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่การรัฐประหารปี 57 ล่าสุด ผมไม่รู้ว่าทหารไปยั่วยุให้ประชาชนออกมาเรียกทหาร หรือประชาชนต้องการทหารจริงๆ เพราะฉะนั้นจะยกภาระทั้งหมดมาให้ทหารถอดตัวเองออกไปยังไม่พอ มันยังมี y z หรือกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่อย่างน้อยการถอดทหารออกมาตัวแปรมันก็น้อยลง” พล.อ.บัญชรกล่าว

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image