ผลเลือก‘ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.’ สะเทือนการเมืองใหญ่

ผลเลือก‘ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.’ สะเทือนการเมืองใหญ่

ผลเลือก‘ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.’
สะเทือนการเมืองใหญ่

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะส่งผลสะท้อนต่อการเมืองภาพใหญ่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างไร

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และส.ก.คือการสะท้อนฐานคะแนนเสียงของพรรค ตอนนี้ ส.ส.กทม.มีสัดส่วนของ 2 พรรคใหญ่คือก้าวไกลและพลังประชารัฐ การเลือกตั้ง ส.ก.ในครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่า 1.พรรคประชาธิปัตย์ยังกลับมาได้อยู่หรือไม่ 2.คือพรรคก้าวไกลจะยังคงรักษาฐานเสียงของตนเองได้หรือไม่ และ 3.พรรคเพื่อไทยจะกลับมาที่สนาม กทม.ได้มากน้อยแค่ไหน นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

Advertisement

ส่วนผลการเลือกตั้ง ส.ก.จะส่งผลอะไรต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง เรื่องนี้สามารถตอบได้จนถึงภาพรวมการหาเสียงในอนาคตของภาพ ส.ส.ว่าพรรคไหนมีโอกาสมีที่จะได้จำนวน ส.ส.หรือมีคะแนนที่คาดหมายได้ว่าพรรคตัวเองจะได้คะแนนเท่าไร จากการเลือกตั้ง ส.ก. แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้ง กทม.คราวนี้พรรคก้าวไกลก็ส่ง ส.ก.เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนกับพรรคเพื่อไทยและ
ประชาธิปปัตย์ มีพรรคเดียวที่ไม่ได้ส่งคือพลังประชารัฐ ดังนั้น บางครั้งเราเห็นโทนของผู้สมัครแล้วว่าคนนี้มีแนวเดียวกับพรรคพลังประชารัฐหรือเป็นขั้วเดียวกัน ผมคิดว่าคะแนนของ ส.ก.รายเขตน่าจะเป็นตัวทำนายล่วงหน้าได้แล้วว่าแต่ละพรรคจะได้จำนวน ส.ส.ประมาณเท่าไร ในที่นี้เราพูดถึงในกรณีที่แต่ละพรรคไม่สะดุดขาตัวเองหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดหมาย เช่น ยุบพรรคหรือข่าวไม่ดีออกมา อันนี้เป็นการประเมินเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในเรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าผู้จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งน่าจะมีจำนวนมาก เพราะไม่มีการเลือกตั้ง กทม.มาทั้งหมด 9 ปีแล้ว ต้องไม่ลืมว่าในช่วงเวลา 9 ปี มีนิวโหวตเตอร์เพิ่มขึ้นมาก และนิวโหวตเตอร์ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นกำลังอยู่ ม.6 หรือมหาวิทยาลัยปี 1 เรารู้ว่าคนรุ่นใหม่พวกนี้ติดตามข่าวสารการเมือง เขามีแนวทาง มีอุดมการณ์ว่าอยากจะเห็นภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯหรือการเมืองไปในรูปแบบไหน อยู่ที่ว่าผู้สมัครจะไปจับจุดตรงนั้นได้หรือไม่ เราจะเห็นหลายแคมเปญ เช่น ไม่เลือกเราเขามาแน่ ซึ่งก็เหมือนเดิม แคมเปญแบบนี้มันขายไม่ได้แล้วกับคนยุคใหม่ รวมถึงคนวัย 30-40 ปี ซึ่งมันจะได้เสียงกับคนอายุประมาณ 50 ปี เป็นต้นไปในบางกลุ่ม ไม่ได้เหมารวม ในทางผู้สมัครเองก็ต้องพยายามขายแคมเปญ ขายนโยบายที่จะพัฒนาแค่ไหน และอุดมการณ์ของผู้สมัครเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ

ส่วนกรณีถ้าผู้ชนะการเลือกตั้ง กทม.เป็นผู้สมัครสังกัดอิสระหรือพรรคการเมืองสามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง เรื่องนี้มี 2 แบบ ถ้าผู้สมัครอิสระชนะ หมายความว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายเลข 8 หรือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครรับหมายเลข 7 ที่เป็นผู้สมัครอิสระชนะ เช่น นายชัชชาตินำเสนอเรื่องนโยบายและการทำงาน ส่วน น.ส.รสนายืนยันต้องเลือกคนดีที่ออกมาปราศรัยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นมันมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นโยบายต่างกัน ดังนั้น ผู้สมัครอิสระ ส่วนตัวเชื่อว่าจะดู 2 ส่วนคือ 1.อุดมการณ์ 2.นโยบาย เราไม่สามารถดูผู้สมัครเลือกตั้งอิสระที่ไม่นำเสนออะไรได้เลย ส่วนที่นำเสนอก็ต้องนำเสนอเรื่องที่เป็นรูปธรรม แต่ผู้สมัครพรรคการเมืองก็มีข้อได้เปรียบคือมีฐานเสียงของพรรคการเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าผู้สมัครที่สังกัดพรรคชนะ จะมองว่าคนเลือกเพราะยี่ห้อพรรคยังขายได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะขาดหรือสูสีสามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง เรื่องนี้คือบอกได้เยอะ ต้องดูคะแนนกันก่อน สมมุติเราแบ่งผู้สมัครเป็นโทนสี มีสีแดง สีแดงอ่อน สีส้ม สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง คิดว่าเราจะผู้สมัครคนเดียวที่ชนะไม่ได้ ต้องดูโทนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ผู้สมัครอีกออกแนวสีโทนร้อน เช่น สีแดง สีส้ม หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน มารวมคะแนนกันแล้วค่อนข้างสูง มันเห็นว่าพรรคการเมืองเดิมอย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือแม้แต่พรรคไทยสร้างไทยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ยังมีโอกาส แต่ถ้าพรรคทางโทนสีน้ำเงิน สีฟ้า รวมกันผู้สมัคร 3 คน อาจจะชนะหรือแพ้ต้องว่ากันอีกทีหนึ่ง ได้คะแนนเท่าไรก็ว่ากันไป สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในอนาคตอย่างไร ผมว่าต้องแบ่งผู้สมัครเป็นโทนสีมากกว่า

ส่วนเรื่องที่จะมีการเทคะแนนเสียงไปยังผู้สมัครคนใดคนหนึ่งที่ทำให้ชนะขาดหรือไม่ ตัวอย่างจากการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งที่ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน ถามว่าได้เพราะอยากได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ คิดว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่ เพราะว่าต้องไม่ลืมว่าระหว่างเลือกแข่งกันระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งชูเรื่องการไม่เลือกเราเขามาแน่ เพราะฉะนั้นผู้สมัครหลายคนได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนลังเลว่าเลือกผู้สมัครที่ตัวเองชอบไปก็ไม่ชนะ สู้ไปทุ่มทางยุทธศาสตร์ดีกว่า ซึ่งทาง น.ส.รสนาก็ออกมาพูดเองว่าเลือกรสนาก็ต้องได้รสนา ไม่ใช่ว่าเลือกรสนาแล้วจะได้คนอื่น เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับแคมเปญการหาเสียงและฝังอยู่กับอุดมการณ์ของโหวตเตอร์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยว่าจะทำอย่างไร เราจะเห็นว่าเซเลปหลายคนออกมาว่าเราจะเลือกคนนี้คนนั้น เพราะคนนี้มีอุดมการณ์อย่างนี้อย่างนั้น ถ้ามองในแง่แคมเปญการหาเสียงมันไม่ใช่ เพราะนี่คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่ใช่การเลือก ส.ส. ผมคิดว่าประเด็นมันหลงทิศหลงทางกันหมด

เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องสู้กันที่นโยบายบวกอุดมการณ์ ไม่ใช่การสู้ที่อุดมการณ์อย่างเดียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้ง โดยดูได้จากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเหมือนเดิม คือ กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จาก 2 ค่ายใหญ่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย อาทิ กลุ่มตรงข้ามฝ่ายรัฐบาลคือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ยังมีความขัดแย้งกันเองในซีกฝ่ายค้านด้วยกัน ขณะเดียวกันกลุ่มใกล้ชิดรัฐบาล ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ที่สะท้อนการเมืองจริงคือ ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์คือนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส่วนกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กลุ่มตัวแทนของพันธมิตร น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนของ กปปส.คือ นายสกลธี ภัททิยกุล การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสะท้อนออกมาว่า หลังจากการเลือกตั้งแล้วไม่สามารถย่อยสลายความขัดแย้งได้เลย ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม

ประการต่อมาการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เห็นว่า มีการสร้างกระแสสร้างความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากกว่าทุกครั้ง จากประวัติศาสตร์ทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้มีการเสนอนโยบายอย่างมากมาย ในการจัดการปัญหากรุงเทพฯ อย่างมโหฬาร นอกจากนี้ บทบาทภาคประชาชนได้มีการตื่นตัวกันอย่างมากมายเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการตื่นตัวของชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งบทบาทของสื่อมวลชนที่ทำให้การเมืองกับประชาชนใกล้ชิดกันมาก อาทิ การติดป้ายผิดที่ เมื่อมีการเสนอลงในโซเชียล ปรากฏว่าได้รับการแก้ไขทันที หรือกรณีชาวบ้านกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปรากฏว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งรีบลงไปฟังปัญหาทันทีเหมือนกัน ซึ่งผมเห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้

หากมองว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ อยากสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างการเมือง การปกครองของกรุงเทพมหานคร ในฐานะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งยังมีปัญหาข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ที่ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่เสนอไว้กับประชาชนได้ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย เว้นแต่ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ไปแล้วจะต้องไปแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจ ในการจัดการปัญหาตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้

โดยเฉพาะสำคัญมาก คือประชาชน ถ้าตัดสินใจลงคะแนนให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับนโยบายไปแล้ว อยากให้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มต่างๆ ในการติดตามนโยบายอย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายของผู้ว่าฯกทม.คือสัญญาประชาคมที่มีต่อประชาชน ถ้าหากชนะการเลือกตั้ง จะต้องนำนโยบายที่ให้สัญญาประชาคม ไว้กับประชาชนไปดำเนินการจะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชนต้องติดตาม กดดันให้เร่งแก้ไขปัญหา

กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นการปกครองในรูปแบบพิเศษ แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ลืมไปว่า ไม่ใช่การเมืองในรูปแบบพิเศษจริง เพราะว่ากรุงเทพฯยังอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย การบริหารราชการต่างๆ อยู่ภายใต้กฎ ระเบียบราชการจำนวนมากที่ล้าหลัง ทำให้เห็นว่า ผู้ว่าฯกทม.ทุกสมัยที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มาก นอกจากจะปฏิบัติไปตามคำสั่งแต่ละวัน อยากจะพัฒนากรุงเทพฯให้ทะลุทะลวงต้องไปแก้กฎหมาย ให้เป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษจริงๆ เพื่อให้ผู้ว่าฯมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ

สำหรับการมองภาพการเลือกตั้ง ส.ส.ภายหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ตามที่กล่าวไปแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สะท้อนภาพการเมืองออกเป็น 2 ขั้ว แต่ละกลุ่มพลังทางการเมืองจะได้รู้ฐานคะแนนการเมืองของตนเองจริงๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อที่เอาคะแนนจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ไปเป็น บิ๊กดาต้า หรือฐานข้อมูลในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง อาทิ พรรคก้าวไกลจะได้รู้ว่ามีผู้ให้การสนับสนุนมากน้อยเพียงใด พรรคเพื่อไทยจะได้รู้ว่ายังมีคนนิยมพรรคเพื่อไทยหรือไม่ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว สถานการณ์การพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ กระแสนิยม พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ตรงไหน ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองจะรู้ฐานคะแนนการเมืองของตัวเอง

มองผู้ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ หลายคนประกาศตนเองว่าลงสมัครอิสระ แต่ในความเป็นจริงอิสระมากน้อยเพียงใด อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เห็นว่าการลงสมัครในครั้งนี้ มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน หากคนกรุงเทพฯเชื่อว่า นายชัชชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งอิสระจริง แล้วเลือกนายชัชชาติ ทำให้มองว่าคนกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายมาก เพราะเป็นผู้สมัครที่มีการเสนอนโยบายมากที่สุด แต่หากคนกรุงเทพฯไม่เชื่อ ไม่เลือกนายชัชชาติ เพราะการไม่เป็นอิสระจริง ทำให้มองว่าคนกรุงเทพฯยังมีความคิดทางการเมืองแบบเดิมๆ คือไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยหน้าคือไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image